ทำเนียบรัฐบาล 9 ก.พ.-โฆษกรัฐบาลเผยที่ประชุมครม.รับทราบแนวทางบริหารจัดการศึกษาและอาชีวศึกษา ภายใต้ความปกติใหม่ช่วงการระบาดโรคโควิด-19
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุ คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เหมาะสมกับสังคมไทย โดยมีข้อเสนอแนะทั้งมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว อาทิ มาตรการเร่งด่วน กระทรวงศึกษาธิการควรกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังศึกษาธิการจังหวัด เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาร่วมตัดสินใจวางแผน เลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทบนพื้นฐานความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียนภายใต้ โ€ความปกติใหม่ จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ โควิด-19 ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
“สำหรับมาตรการระยะยาว จัดทำหลักสูตรป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือโรคติดต่ออื่น ๆ กำหนดมาตรการเปิด-ปิดโรงเรียนให้สอดคล้องและยืดหยุ่นต่อความรุนแรงของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จัดเตรียมอุปกรณ์ให้นักเรียนที่มีความเสี่ยงที่จะเสียโอกาสจากการเรียนทางไกล ในกรณีที่โรงเรียนต้องปิดเพราะพื้นที่มีการระบาดรุนแรง เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้บริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน รวมทั้งได้กำหนดกำหนดมาตรการระยะยาวเพื่อรองรับสถานการณ์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันไว้แล้ว” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายอนุชา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกล ใน 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม สำรวจความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การขออนุมัติการใช้ช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจาก ระยะที่ 2 การทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยการแพร่สัญญาณจาก DLTV ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน หากสถานการณ์คลี่คลายให้ดำเนินการเรียนการสอนปกติในโรงเรียนโดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
“ระยะที่ 4 การทดสอบและศึกษาต่อ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ในการผลิตสื่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนทางไกลของโรงเรียน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีจัดการเรียนการสอนแบบปกติ (Onsite) ต้องปฏิบัติตามมาตรการทั้ง 6 ข้อของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 1) วัดไข้ 2) ใส่หน้ากาก 3) ล้างมือ 4) เว้นระยะห่าง 5) ทำความสะอาด และ 6) ลดความแออัด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายอนุชา กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคอุบัติใหม่ กรณีที่ไม่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น สถานศึกษาอาชีวศึกษาทุกแห่งดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบ Onsite เพื่อให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับครูผู้สอนเป็นการจัดการศึกษาในลักษณะเต็มรูปแบบตามหลักสูตรอาชีวศึกษา กรณีมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาจัดการศึกษาที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบ Onsite ควบคู่ไปกับรูปแบบ On-Air และแบบ Online โดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมและความพร้อมของสถานศึกษาอาชีวศึกษาแต่ละแห่ง
“สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะร่วมกับสถานศึกษา จัดทำคู่มือสร้างความเข้าใจและการเรียนการสอนตามหลักสูตร พัฒนาครูผู้สอนและพัฒนาผู้เรียน ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ในวิถีความปกติใหม่ (New Normal) เพื่อให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะและตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย