ทำเนียบ 11 ม.ค.-นายกฯ ย้ำบริหารงบปี 65 ประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพปรับสอดคล้องสถานการณ์ ส่วนงบเยียวยาโควิด-19 ดูแลครอบคลุมเน้นกลุ่มเปาะบาง ด้านผอ.สำนักงบฯปรับหลักเกณฑ์ส่งเงินนอกงบประมาณเพิ่ม หวังลดภาระงบประมาณ
เมื่อเวลา 08.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวมอบนโยบายให้หน่วยรับงบประมาณทั่วประเทศ เพื่อจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผ่านรายการพิเศษทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เอ็นบีที ตอนหนึ่งว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท จะมีความต่อเนื่องจากงบประมาณปี พ.ศ. 2564 โดยยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุลในจำนวนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยทางการคลัง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวพ้นจากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อย่างปกติตามศักยภาพ และจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานให้มากขึ้น เช่น การประชุม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ทางออนไลน์ และรายจ่ายประจำที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถชะลอการดำเนินการออกไปได้ ขอให้ชะลอไปก่อน นอกจากนั้น ควรประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนด หากแผนงานหรือโครงการใดไม่สามารถก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้ก็ควรยกเลิก เพื่อนำงบประมาณไปดำเนินการในแผนงาน และโครงการอื่นต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนการเยียวยาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากไวรัสโควิดต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต และลดความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ไปยังบุคคลอื่นและชุมชน ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ การจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลของการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ต้องจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยหน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณต้องพิจารณานำเงินรายได้ และเงินสะสมคงเหลือ มาใช้ในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก ควบคู่กับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น รวมทั้งต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่นในการดำเนินโครงการลงทุน เช่น การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณภายใต้ข้อจำกัดของวงเงินงบประมาณรายจ่ายของประเทศ และทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการจัดทำคำของบประมาณต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ 4 ประเด็น ที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค และการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประกอบด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ โดยส่งเสริมการจ้างงาน ให้สอดคล้องกับภาคเศรษฐกิจในอนาคต การช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพ SME แก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ส่งเสริมการปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ สร้างตำแหน่งงานในภูมิภาค เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเมืองรองและท้องถิ่น การยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง พัฒนาระบบหลักประกันทางสังคม โดยช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยคนยากจน กลุ่มเปราะบาง ผลักดันแรงงานให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม
“ขอให้หน่วยรับงบประมาณ นำประเด็นสำคัญทั้งหมดมาใช้ประกอบ การจัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และจัดส่งให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2564 นี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ขณะที่ นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า หน่วยงานราชการ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถจัดเก็บรายได้ได้เอง เช่น ค่าธรรมเนียม หรือ เงินนอกงบประมาณที่ต้องสมทบตามความเหมาะสมว่า ปีนี้จะปรับหลักเกณฑ์การส่งเงินสบทบให้สูงขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณ ส่วนงบบุคลากรที่นายกรัฐมนตรีอยากให้มีการปรับลดนั้น ขอย้ำว่า งบประมาณและสวัสดิการต่างๆ ยังคงเดิม และ จะไม่ปรับลดจำนวนบุคลากร แต่จะพิจารณาเรื่องการแต่งตั้ง และ สถิติการใช้จ่าย เพื่อดูความเหมาะสม สำหรับการก่อสร้างต่างๆ ต้องมีหนังสืออนุมัติใช้พื้นที่ก่อสร้าง ไม่ใช่เพียงแค่มีหนังสือคำขอเท่านั้น. สำนักข่าวไทย