ปภ.5 ม.ค.-ศปถ.สรุปยอด 7 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุ 3,333 ครั้ง ตาย 392 ราย เจ็บ 3,326 คน “เชียงราย” ตายสะสมสูงสุด ยอดเสียชีวิตสูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 5 เตรียมเป็นกรณีศึกษาวางมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทั้งปี
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 หรือ ศปถ. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายรวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 265 ครั้ง เสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บ 271 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 32.45 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 25.28 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.55 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 63.02 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 45.28 ถนนในอบต.- หมู่บ้าน ร้อยละ 27.55
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด เวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 28.68 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 32.76 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,969 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,996 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 477,652 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 111,030 ราย ความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 29,963 ราย ไม่มีใบขับขี่ 27,454 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด สุราษฎร์ธานี 12 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ลพบุรี 3 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด สุราษฎร์ธานี 13 คน
“สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์(29 ธ.ค.63 – 4 ม.ค. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,333 ครั้ง เสียชีวิตรวม 392 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 3,326 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด ได้แก่ นครนายก นราธิวาส น่าน แม่ฮ่องสอน ระนอง อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด เชียงใหม่ 115 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด เชียงราย 18 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด เชียงใหม่ 117 คน” นายนิพนธ์ กล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 33.60 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 33.06 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 59.33 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.09 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.54 รถปิคอัพ ร้อยละ 6.19 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 65.77 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.80 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 27.45
“สรุปตัวเลขในช่วง 7 วันอันตราย พบจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมากกว่าช่วงปีใหม่เมื่อปีที่แล้ว มียอดผู้เสียชีวิตสูงกว่าเดิม 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 โดยสาเหตุของการเสียชีวิตยังเป็นเรื่องการขับรถเร็ว โดยเฉพาะเมื่อถนนมีรถน้อยลงจะใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น เสียชีวิตในที่เกิดเหตุมากขึ้น นอกจากนี้เป็นการเสียชีวิตจากกรณีเมาแล้วขับสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นใกล้เคียงพื้นที่ที่มีการสังสรรค์ช่วงปีใหม่และใช้ยานพาหนะ” นายนิพนธ์ กล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าจะนำยอดผู้เสียชีวิตช่วง 7 วันอันตรายไปปรับและหาแนวทางลดจำนวนผู้เสียชีวิต เพื่อนำมาตรการมาใช้ตลอดทั้งปี ส่วนจะใช้ยาแรงในช่วงสงกรานต์นี้หรือไม่ มองว่าไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาลเท่านั้น เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลกำหนดวันหยุดเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีวันหยุดยาวและคนออกไปเที่ยวมักจะเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น ต้องมีมาตรการดูแลตลอดทั้งปี รวมทั้งจะต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างศูนย์โควิด-19 และด่านความมั่นคง
เมื่อถามถึงกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีระบุว่า มีประชาชนในจังหวัดติดโควิด-19 จากบ่อนในพื้นที่กทม. นายนิพนธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ แต่ศูนย์โควิด-19 จะดูแลทุกจังหวัด.-สำนักข่าวไทย