กระทรวงกลาโหม 30 พ.ย. – นายกรัฐมนตรี เตือนม็อบระวังละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนัดชุมนุม 2 ธ.ค. ระบุไม่ถูกต้องที่ไปกดดันตามสถานที่ต่าง ๆ ยันรัฐบาลไม่ใช้กำลังจัดการกับม็อบ แต่จะใช้กฎหมาย ตามกระบวนการยุติธรรม ขอสื่อไตร่ตรองก่อนนำเสนอให้พื้นข่าวม็อบมากไปหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฏร63 จะเดินทางไปชุมนุมที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อฟังคำวินิจฉัยตัดสินคดีบ้านพักทหารของนายกรัฐมนตรีว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้อง และการไปกดดันตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ อยากให้พิจารณาให้ดี เพราะที่ผ่านมาศาลเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศาลและการละเมิดศาล จึงอยากให้ผู้ชุมนุมระมัดระวังด้วย
ส่วนที่เริ่มมีกระแสสังคมเบื่อหน่ายผู้ชุมนุมที่สร้างความเดือดร้อน อยากให้รัฐบาลดำเนินการเด็ดขาดนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งผู้ชุมนุมและกระแสของสังคม จึงอยากให้สื่อทำความเข้าใจ ว่าจะให้รัฐบาลเด็ดขาดในการใช้กำลัง คงไม่สามารถทำได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการ คือการใช้ขั้นตอนของกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและสันติ ไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมและผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม อยากให้ผู้ชุมนุมระมัดระวังเรื่องการสร้างความเดือดร้อนให้กับคนทั่วไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฝากไปยังสื่อมวลชนเกี่ยวกับการตั้งคำถามและการทำหน้าที่ไม่ให้เกิดการยั่วยุหรือสร้างความแตกแยก ขอให้ทำหน้าที่เป็นกลาง และนำเสนอเรื่องที่เป็นประโยชน์ อย่างกรณีหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ทำเรื่องไม่สมควร ที่นำเสนอภาพพระราชกรณียกิจ การลงพื้นที่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เล็กน้อย ผิดกับภาพผู้ชุมนุมที่ให้พื้นที่มากกว่า ซึ่งสื่อควรจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากบางเรื่องส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ในสายตาของต่างประเทศ จึงอยากให้นำเสนอสิ่งที่ดีของประเทศบ้าง หรือการที่สื่อนำเสนอข่าวเกี่ยวกับจำนวนผู้มาร่วมชุมนุม ซึ่งจากภาพที่ถ่ายออกมา ก็สามารถประเมินจำนวนคนได้ โดยไม่จำเป็นต้องรายงานว่ามีจำนวนหลักหมื่น หลักแสน หรือหลักล้าน ซึ่งอาจไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันตนก็เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของสื่อมวลชนที่ไปทำข่าวการชุมนุม อยากให้ระมัดระวังตัวเองด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เลือกปฏับัติ ในการดำเนินการตามกฏหมายกับผู้ชุมนุม เพราะไม่ว่าฝ่ายใด ก็ไม่สามารถละเมิดกฏหมายได้ และแม้กฏหมายจะมีไว้ใช้คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของบุคคล แต่ขออย่าให้เกินเลย ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ทำตามขั้นตอนกฏหมาย ก่อนจะปฏิบัติการเรื่องใดก็ได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบก่อน เช่นพื้นที่ที่ไม่ให้บุกรุกเข้าไป แต่ผู้ชุมนุมก็ยังอยากจะเข้าไป ในพื้นที่หวงห้าม ซึ่งถือเป็นการละเมิดและผิดกฏหมาย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการตรวจสอบผู้ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ว่า ฝ่ายความมั่นคงได้ตรวจสอบมาตลอด แต่ไม่ทราบว่าเป็นผู้ที่อยู่ในหรือต่างประเทศ และการที่แกนนำประกาศว่า ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรี จะพ้นจากตำแหน่ง แต่การชุมนุมยังคงเดินหน้าต่อตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เป็นเรื่องของผู้ชุมนุม แต่การจะทำอะไรต้องยอมรับผลสิ่งที่ทำลงไปด้วย หากจะไม่รับผิดชอบและไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมเลย คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
นายกรัฐมนตรี ยังปฏิเสธ แสดงความเห็นว่าการชุมนุมจะบรรลุตามวัตถุประสงค์ตาม 3 ข้อหรือไม่ กล่าวแต่เพียงว่า อยากให้พิจารณาว่าข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้หรือไม่ ขัดกับขั้นตอนต่อหลักการบริหารราชการแผ่นดินและรัฐธรรมนูญหรือไม่.-สำนักข่าวไทย
.-234 (222)