รัฐสภา 24 พ.ย.- กมธ.แก้ รธน เลือก “ วิรัช” นั่งประธาน ยันไม่หวั่นกระแสต้าน ด้าน “รังสิมันต์ โรม” พร้อมดันข้อเสนอภาคประชาชนสู้ ดักคอ ส.ส.ร.มาจากแต่งตั้ง เสียงประชาชนมิอาจยอมรับได้
การประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติมนัดแรกในวันนี้ ที่ประชุมมีมติเลือกนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐเป็นประธานกรรมาธิการ ด้วยมติเสียงข้างมาก 27 ต่อ 12 เสียง ชนะฝ่ายค้านที่เสนอ นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย
นายวิรัช กล่าวขอบคุณหลังได้รับเลือกเป็นประธานกรรมาธิการ โดยหลังจากนี้จะวางกรอบการพิจารณา และกำหนดกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งส่วนตัวมีหน้าที่ควบคุมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการที่รัฐสภาส่งร่างมาให้กรรมาธิการพิจารณา โดยเฉพาะฉบับของรัฐบาลซึ่งเป็นร่างหลักในการพิจารณาครั้งนี้ แต่การพิจารณาจะทำอย่างอะลุ่มอล่วย เพราะต้องคำนึงถึงร่างของฉบับฝ่ายค้านด้วย ซึ่งร่างของฝ่านค้านก็มีรายละเอียดไม่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะการไม่แตะหมวด 1 หมวด2
ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ส่วนรายละเอียดว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.อย่างไร จำนวนกี่คน และจะใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญกี่วันนั้น ก็ต้องรอให้พิจารณาในที่ประชุมก่อน หลังจากนี้ตนจะตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาดูแลรายละเอียด คุณสมบัติและการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ด้วยเพื่อให้มีความชัดเจนมากที่สุด ส่วนการที่ตน ได้เป็นประธานจะเป็นเงื่อนไขไม่ยอมรับการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้หรือไม่ นั้น ตนยืนยันกระบวนการทั้งหมดดำเนินการตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะสัดส่วนของพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า แม้การพิจารณาครั้งนี้จะยึดร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลัก ก็ไม่ได้หมายความว่าสาระทั้งหมดจะต้องเป็นแบบร่างของรัฐบาลเท่านั้น แต่จะต้องนำสาระของฝ่ายค้านมาประกอบการพิจารณาด้วย รวมทั้งร่างฉบับประชาชนที่ถูกตีตกไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตหลักการที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ แต่ต้องยอมรับว่าบางเรื่องที่ภาคประชาชนเสนอ พูดกันตรงๆอาจจะนำมาผลักดันไม่ได้ แต่ยืนยันว่ากรรมาธิการจะให้ความสำคัญกับร่างของภาคประชาชนอย่างแน่นอน
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองและข้อสังเกตเรื่องการรัฐประหารจะส่งผลทำให้การร่างรัฐธรรมนูญล้มเหลวหรือไม่ ว่า ปัจจัยที่จะทำให้รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่มีหลายอย่าง แต่ตัวชี้วัดสำคัญคือ ประชาชน แต่หากสุดท้ายโครงสร้างส.ส.ร.ประกอบไปด้วยสัดส่วนที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ก็ยากที่จะพูดว่า ประชาชนจะเห็นด้วยหรือเข้ามาร่วมในกระบวนการ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาการเมืองได้ทั้งหมด แต่เป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไข และต้องใช้ระยะเวลา มีปัญหาระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการคือแก้ไขมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่ส่งผลต้องมีนายกฯ คนใหม่และส.ว.ยังร่วมโหวตอีกครั้ง ประเทศจะลุกเป็นไฟแน่นอน
ส่วนปัญหาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเรื่องการปฏิรูปสถาบันนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องมาพูดคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ใช้การดำเนินคดีหรือความรุนแรง หรือปัญหาการคุกคามประชาชน ไม่มีการปลุกระดมกัน โดยได้อ้างอิงถึงเอกสารของสมช.ว่ามีการแจ้งขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด อย่างไม่เป็นทางการให้มีการจัดตั้งมวลชนมาปกป้องสถาบัน การทำเช่นนี้จะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่าหากทำเช่นนี้จะเพิ่มความขัดแย้งทางการเมือง.-สำนักข่าวไทย