รัฐสภา 17 พ.ย.- การประชุมรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มแล้ว การรักษาความปลอดภัยเข้ม ขณะที่ ส.ส. – ส.ว.ผิดหวัง รายงานการศึกษาของ กมธ. ไม่มีบทสรุป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่า งที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และของภาคประชาชน หรือ ไอลอร์ วันนี้ (17 พ.ย.) เริ่มเวลา 09.45 น. ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม 45 นาที เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดบ่าย มีการปิดการจราจรถนนสามเสน ด้านหน้ารัฐสภา เตรียมรองรับการชุมนุมของ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไทยภักดีในช่วงเช้า และกลุ่มคณะราษฎร 63 ในช่วง ทำให้การจราจรบริเวณโดยรอบติดขัด
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมจะเริ่ม นายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้ขอหารือในที่ประชุมเกี่ยวกับขั้นตอนลงการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจะทำได้ ต่อเมื่อได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 1 ใน 3 ดังนั้น จึงขอให้สมาชิกวุฒิสภาลงมติก่อน เพราะหากไม่ผ่านในขั้นตอนนี้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 500 คน
จากนั้น เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระประชุม ช่วงแรก เป็นการรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ ทั้ง 6 ร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมาธิการฯ รายงานว่า คณะกรรมาธิการได้ศึกษาประเด็นข้อกฎหมายว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2555 หรือไม่ การทำประชามติจำเป็นต้องดำเนินการก่อนเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ควรกำหนดวิธีการอย่างไร เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่กระทบต่อพระราชอำนาจในหมวดอื่นๆ นอกจากหมวด 1 และ 2 และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างที่ 3 ถึง 6 ขัดต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างที่ 1 และ 2 หรือไม่ เนื่องจากเมื่อมีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อยกร่างทั้งฉบับ จะทับซ้อนกับการแก้ไขเนื้อหารายมาตราหรือไม่ โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญบุคคลผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็น เพื่อความสมบูรณ์ครบถ้วน และเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการทุกคนแสดงความเห็น โดยไม่มีการลงมติ
ด้าน นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมาธิการจัดทำรายงานพิจารณาศึกษา ชี้แจงเนื้อหารายงานว่า เมื่อไม่มีฝ่ายค้านร่วมด้วย รายงานฉบับนี้จึงไม่มีข้อสรุป ซึ่งผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ เรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2555 หรือไม่ ซึ่งมีความเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมสามารถทำได้ แต่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีความเห็นต่างกันเป็น 2 ทาง เช่นเดียวกับการออกเสียงประชามติ บางฝ่ายเห็นว่าควรออกเสียงเพียง 1 ครั้ง อีกฝ่ายเห็นว่าควรทำประชามติก่อนดำเนินการด้วย แต่ก็มีความเห็นเป็นทางเดียวกันว่า การดำเนินการประชามติต้องให้มีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเสียก่อน
นายนิกร กล่าวว่า ส่วนการป้องกันไม่ให้การแก้ไขกระทบพระราชอำนาจในมาตราอื่นๆ นอกจากหมวด 1 และ 2 เห็นไปในทางเดียวกันว่า พระราชอำนาจในหมวดอื่นๆ เป็นไปในฐานะประมุขแห่งรัฐอยู่แล้ว ตามหมวด 1 และ 2 ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ถึง 6 ซึ่งเป็นการแก้ไขรายมาตรา บางฝ่ายเห็นว่าไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้ แต่บางฝ่ายก็เห็นว่าซ้ำซ้อนกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ
จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้อภิปรายคนแรก ว่า รู้สึกผิดหวังกับรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ เพราะรายงานไม่มีบทสรุป เป็นเพียงความเห็น 2 แนวทาง ทำให้สมาชิกหลายคนไม่สามารถหาคำตอบและบทสรุปได้ ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้การแก้ไขทุกมาตรา โดยยกเว้นหมวด 1 และ 2 ถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ หากไม่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่แก้ไข
“หากให้สมาชิกรัฐสภาสามารถแก้ไขได้ทุกมาตราในประเด็นที่เป็นปัญหา แต่ต้องผ่านการทำประชามติก่อน ขอให้การตัดสินใจของสมาชิกเป็นไปโดยอิสระ อย่ากดดัน คุกคาม ข่มขู่ เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศชาติที่ดีกว่าเดิม และหากต้องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ควรออกเสียงประชามติก่อน ควบคู่ไปกับการแก้ไขรายมาตรา” นายสุรชัย กล่าว
ด้าน นายประเสริฐ จันทรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รายงายของกรรมาธิการฯ ถือว่าไม่มีประโยชน์ เป็นเพียงการยื้อเวลา แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นรายงานที่ไม่มีข้อสรุป เป็นเพียงการรวบรวมความเห็นของแต่ละบุคคล และยังผลักภาระมาให้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจในการลงมติในแต่ละแนวทาง ทั้งที่สังคมมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหาต้องมีการปรับแก้ไข .- สำนักข่าวไทย