กรุงเทพฯ 20 ต.ค.- อดีตผู้พิพากษา พร้อม วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ปชป. ฟ้องนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อ้างว่าออกประกาศโดยมิชอบและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
นายเกษม ศุภสิทธิ์ อดีตผู้พิพากษา และนายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาที่ศาลแพ่งรัชดา เพื่อยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ เเจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ ฐานละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เเละให้เพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสถานการณ์ร้ายเเรงโดยมิชอบที่ออกประกาศวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา
โดยนายเกษม ระบุว่า ประกาศดังกล่าวออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะคำนิยามสถานการณ์ฉุกเฉินระบุได้ว่าจะประกาศได้ก็ต่อเมื่อส่งผลต่อความมั่นคงต่อรัฐ มีเหตุร้ายเเรง เเต่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นนักศึกษา นักเรียน เเละประชาชนชุมนุมด้วยความสงบ ไม่มีอาวุธ และใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ยกเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม ที่เเยกปทุมวัน เพื่อให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทันที ขณะนี้ศาลกำลังพิจารณาว่าจะทีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่
นายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางมาที่ศาลแพ่ง รัชดา ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อศาลแพ่ง เนื่องจากมองว่าการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติตามมาตรา 4, 5, 9 และ 11 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงขอให้ศาลเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ข้อกำหนดและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง และขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ส่วนที่ไม่ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น เนื่องจากมาตรา 16 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปี 2548 เขียนนิรโทษกรรมคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ถูกฟ้องเป็นคดีปกครอง จึงใช้ช่องทางการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง
พร้อมยกกรณีเมื่อปี 2557 นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ในขณะนั้นมายื่นร้องต่อศาลแพ่งให้มีคำวินิจฉัย ยกเลิกและถอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน ซึ่งศาลก็มีวินิจฉัยคุ้มครอง และออกประกาศคุ้มครองผู้ชุมนุมห้ามรัฐบาล กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิผู้ชุมนุม จึงหวังว่าครั้งนี้ศาลแพ่งจะให้ความเมตตา ซึ่งหากศาลมีคำวินิจฉัยเพิกถอนและคุ้มครองชั่วคราวผู้ชุมนุม ก็มีเหตุอันควรที่จะเป็นการรับรองว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีความผิดโดยเข้าข่ายจงใจละเมิดบทบัญญัติของกฎหมาย จากนั้นตนเองอาจจะพิจารณาใช้ช่องทางกฎหมายอื่นๆ เพื่อยื่นเอาผิดนายกรัฐมนตรีอย่างเช่นการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 157 ฐานปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ
ขณะเดียวกัน ทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญพรรคเพื่อไทยจะยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว.-สำนักข่าวไทย