กรุงเทพฯ 10 ต.ค.- ปภ.รายงานเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย ในพื้นที่ 4 จังหวัด เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานจากอิทธิพลพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563-ปัจจุบัน (10 ตุลาคม 2563 เวลา 06.00 น.) ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระแก้ว กาญจนบุรี ชัยนาท รวม 17 อำเภอ 36 ตำบล 93 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 479 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
แยกเป็น น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำไหลหลาก มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรวม 3 จังหวัด 14 อำเภอ 30 ตำบล 79 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 463 ครัวเรือน โดยจังหวัดนครราชสีมา เกิดฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากช่อง อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอปักธงชัย อำเภอโนนสูง อำเภอชุมพวง อำเภอห้วยแถลง อำเภอทะเมนชัย อำเภอพิมาย อำเภอจักราช และอำเภอวังน้ำเขียว รวม 22 ตำบล 62 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 444 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับผลกระทบ 1,950 ไร่ ปัจจุบันฝนหยุดตก ระดับน้ำทรงตัว ขณะที่จังหวัดสระแก้ว เกิดฝนตกต่อเนื่องทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังสมบูรณ์ อำเภอคลองหาด และอำเภอวังน้ำเย็น รวม 6 ตำบล 13 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เกิดฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอท่ามะกา รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
สำหรับเหตุวาตภัย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 จังหวัด 3 อำเภอ 6 ตำบล 14 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 16 หลัง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอสรรคบุรี รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 2 หลัง เสาไฟฟ้าล้ม 2 ต้น จังหวัดกาญจนบุรี เกิดวาตภัยในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพนมทวน และอำเภอศรีสวัสดิ์ รวม 5 ตำบล 13 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 14 หลัง
ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้างหรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.-สำนักข่าวไทย