เมืองทองธานี 30 ก.ย.-รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีลงนาม MOU 13 บริษัทอสังหาฯ ช่วยเหลือผู้บริโภคได้คืนเงินจอง กรณีสินเชื่อบ้านไม่ได้รับการอนุมัติ ย้ำเป็นแนวทางในการคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกเอาเปรียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 ก.ย.) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แนวทางการช่วยเหลือผู้บริโภค กรณีสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อเพื่อชำระค่าอสังหาริมทรัพย์ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยมีคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตัวแทนบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนบริษัทบ้านจัดสรร และคอนโด รวมถึงเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนกว่า 300 คน เข้าร่วม
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อผนึกกำลังของทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้บริโภคด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 13 แห่ง ร่วมลงนาม MOU เพื่อเป็นการยืนยันว่าจะปฏิบัติตามกรอบแนวทางของ สคบ.กรณีที่ผู้บริโภคประสบปัญหาที่สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อเพื่อชำระค่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นผลให้เกิดการริบเงินจอง เงินทำสัญญา และเงินดาวน์ สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค
โดยกรณีที่ได้รับการผ่อนผันประกอบด้วย 1.กรณีคู่สัญญาหรืคู่สมรส บุตร บิดา หรือมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่สัญญาเสียชีวิต แต่ไม่รวมถึงกรณีการเสียชีวิตที่เกิดจากการฆ่าตัวตาย ผู้พัฒนาอสังหามทรัพย์ยินดีชำระเงินคืนต็มจำนวนตามที่ผู้บริโภคได้ชำระไปแล้วตามสัญญา 2.กรณีคู่สัญญา คู่สมรส บุตร บิดาหรือมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่ญญา เจ็บป่วยหรือสูญเสียความสามารถ ทุพลภาพไม่สามารถประกอบการงาน หรือมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายในการดูแลรักษาภายหลังที่ผู้บริโภคได้ทำสัญญา ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยินดีชำระเงินคืนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนเงินตามที่ผู้บริโภคได้ชำระไปแล้วตามสัญญา 3.กรณีคู่สัญญาถูกเลิกจ้างงาน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยินดีชำระเงินคืนไม่น้อยคว่ร้อยละ 60 ของจำนวนงินตามที่ผู้บริโภคได้ชำระไปแล้วตามสัญญา
นายอนุชา กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีที่ภาคส่วนรัฐบาลและเอกชนได้ร่วมกันขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะการค้าด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้นำทางธุรกิจ เพราะเป็นการค้าที่มีมูลค่าสูง นับว่าเป็นธุรกิจชั้นนำที่เป็นปัจจัย 4 ที่ประชาชนต้องมี ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขณะเดียวกันการช่วยเหลือเยียวยาจากผู้ค้า ด้วยความเห็นอกเห็นใจ จะเป็นต้นแบบในการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณภาคีเครือข่าย และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 13 แห่งที่ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นลำดับแรก แม้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวไม่ได้มีการบังคับใช้ในรูปแบบกฎหมาย แต่ถือว่าเป็นสัญญาประชาคมที่ภาคเอกชนได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจัง.-สำนักข่าวไทย