กรุงเทพฯ 29 ก.ย.-โฆษก ภท. โต้อดีตกกต. เงินทดรองจ่ายของพรรคกว่า 30 ล้านบาทเป็นงบการเงินต่อเนื่องในแต่ละปี หลังรัฐประหารห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ชี้ กรรมการพรรคต้องทดรองเงินเพื่อใช้จ่ายจำเป็น ไม่ใช่การกู้เงิน
นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยรายชื่อพรรคการเมืองที่ปรากฏรายการเงินกู้ในเอกสาร รวมถึงเงินทดรองจ่าย ซึ่งอ้างถึงเงินทดรองจ่ายของพรรคภูมิใจไทยจำนวน 30 ล้านบาท ว่า ข้อสังเกตของนายสมชัยเป็นคนละกรณีกัน เนื่องจากเป็นเงินทดรองจ่ายของพรรคที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2557 และหลังจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีข้อห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ห้ามจัดประชุม รวมถึงห้ามอุดหนุนเงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งกองทุนดังกล่าวได้เรียกเงินที่ได้จัดสรรและเงินเหลือจ่ายจากพรรคคืนกองทุนด้วย
โฆษกพรรคภุมิใจไทย กล่าวว่า การคงอยู่ของพรรคการเมืองจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ แต่เมื่อห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ห้ามหารายได้และรับบริจาคจากสมาชิกและบุคคลทั่วไป กรรมการของพรรคจึงทดรองเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงที่อยู่ระหว่างภายใต้บังคับของประกาศของคสช. ฉบับที่ 57/2557 และหลังจากหัวหน้าคสช.ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว ทำให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้เป็นปกติ พรรคภูมิใจไทยจึงไม่ได้มีเงินทดรองจากกรรมการอีก
“ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎว่าในงบการเงินปี 2560 มีเงินทดรองจากกรรมการ 23 ล้านบาท เป็นยอดเงินที่ยกมาจากปี 2559 จำนวน 20 ล้านบาท ส่วนปี 2560 มีเงินทดรองจากกรรมการเพียง 3.5 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเมื่อรวมกับยอดเงินที่ยกมาจากปี 2559 จึงเป็นจำนวนเงินรวม 23 ล้านบาท และปี 2561ปรากฏในงบการเงิน มีเงินทดรองจากกรรมการ 30 ล้านบาท เป็นยอดเงินที่ยกมาจากปี 2560 จำนวน 23 ล้านบาท ซึ่งในปี 2561 มีเงินทดรองเพียง 6.2 ล้านบาท เมื่อรวมกับยอดเงินที่ยกมาจากปี 2560 จึงเป็นจำนวนเงินรวม 30 ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าในปี 2560 มีเงินทดรองจากกรรมการจำนวน 23 ล้านบาท และในปี 2561 ไม่ได้มีเงินทดรองจากกรรมการ 30 ล้านบาท แต่เป็นยอดเงินที่ยกมาในแต่ละปี” นายภราดร กล่าว
นายภราดร กล่าวว่า เงินทดรองจากกรรมการของพรรคภูมิใจไทยเป็นเงินทดรองที่จำเป็นต้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคที่จำเป็นและมีจำนวนไม่มาก ในแต่ละปีไม่เกิน 10ล้านบาท เพื่อการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองภายใต้สภาวการณ์ที่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศคสช. ยืนยันว่าไม่ได้กู้ยืมเงิน จึงไม่มีสัญญากู้ยืมเงิน และเรื่องนี้ ทางพรรคภูมิใจไทยได้ชี้แจงต่อกกต.ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563.-สำนักข่าวไทย