กรุงเทพฯ 26 ก.ย.-นักวิชาการมองการชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาคมนี้ มีแนวโน้มยืดเยื้อ รุนแรง ขยายฐานมวลชน หลัง ส.ส.รัฐบาล-ส.ว.เห็นชอบตั้ง กมธ.ศึกษาญัตติแก้ รธน. ชี้ไม่ต่างกับการคว่ำ 6 ญัตติแก้ไข รธน.
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการนัดชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาคมนี้ ว่า การนัดชุมนุมใหญ่ครั้งนี้มีส่วนสัมพันธ์กับการเมืองในสภาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติก่อนรับหลักการในสมัยประชุมหน้า ซึ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าการเมืองในสภาฯ เป็นตัวตัดสินชี้วัดที่สำคัญกับการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในการชุมนุมเดือนตุลาคมนี้
นายยุทธพร กล่าวว่า อีกทั้งการประชุมร่วมรัฐสภา แสดงถึงบรรยากาศความขัดแย้งที่บดบังสาระหลักของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะความขัดแย้งเรื่องทัศนคติทางการเมืองของช่วงชั้นวัย และเป็นการต่อสู้ทางความคิด เป็นภาพเห็นว่าความขัดแย้งนอกสภาฯ ถูกถ่ายทอดเข้าไปในสภาฯ รวมถึงความขัดแย้งภายในสภาฯ ก็ถูกถ่ายทอดกลับไปนอกสภาฯ
“ยิ่งทางออกของการลงมติออกมาในรูปแบบการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ดูจะไม่ต่างจากการคว่ำทั้ง 6 ญัตติ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวฐานมวลชนเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางขึ้น เนื่องจากกลุ่มการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงกลุ่มแนวร่วมอื่น ต่างเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญเป็นหัวใจหลักที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ จึงเห็นว่าการตั้ง กมธ.ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะทำให้การชุมนุมในเดือนตุลาคม เป็นรูปแบบการปักหลักพักค้าง หลังแกนนำประกาศว่าจะชุมนุม 7 วัน 7 คืน หาก ส.ว.คว่ำญัตติ หรือ ชุมนุมจนกว่าจะได้รับชัยชนะ ตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่าทิศทางการเมืองจะเป็นไปอย่างไร” นายยุทธพร กล่าว
นายยุทธพร กล่าวอีกว่า ทางออกที่ดีจากนี้รัฐสภาควรจะตัดสินใจรับหลักการอย่างน้อยในญัตติร่างที่หนึ่งและร่างที่สองของฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แม้ญัตติที่เหลือจะตกไป และอาจมีการชุมนุมเกิดขึ้นอยู่บ้าง แต่ก็จะไม่มีการขยายความให้กว้างขวาง จึงต้องติดตามต่อว่าเมื่อการเมืองในสภาฯ ไม่สามารถตอบสนองได้ เมื่อการตอบสนองไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงเกิดปรากฏการณ์มวลชนาธิปไตย ที่มวลชนต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐเอง ต้องการกำหนดอนาคตด้วยตัวเอง เมื่อถึงตรงนั้นจะเกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย การเมืองในระบบไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ของมวลชนเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน
“วันนี้ต้องบอกว่ามีความเสี่ยงที่การชุมนุมจะเกิดความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคมนี้น่าจะมีการขยายฐานของกลุ่มผู้ชุมนุม ทางแนวร่วม และประชาชน จะทำให้จำนวนมวลชนมากขึ้น จะเกิดผลข้างเคียงต่อปรากฏการณ์ ส่งผลเรื่องไม่สามารถควบคุมยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว หรือกำกับเรื่องความรุนแรงได้ แม้ที่ผ่านมากลุ่มผู้ชุมนุมและฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะประคับประคองรักษาสถาณการณ์เพื่อไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงจากฝ่ายตัวเอง” นายยุทธพร กล่าว
นายยุทธพร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้มองว่าโอกาสที่ ส.ว.จะไม่เห็นด้วยกับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้มากจากท่าทีที่เกิดขึ้น เพราะ ส.ว.มากกว่าร้อยละ 80 อภิปรายไม่เห็นด้วย อีกทั้งมีข้ออ้างว่าไม่มีเวลาในการศึกษารายละเอียดของญัตติต่าง ๆ ทั้งที่การแก้ไขมีประเด็นไม่มาก และเป็นการแก้ไขเพียงรายมาตรา รวมถึงการเห็นชอบในการตั้งกรรมาธิการฯ ทั้งที่มีการศึกษาจากชุดของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ทำให้เป็นประเด็นที่หลายคนเชื่อว่า ส.ว.จะลงมติไม่เห็นชอบ.-สำนักข่าวไทย