ทำเนียบฯ 6 ส.ค.-“วิษณุ” แจงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มี 2 วิธี คือการแก้ไขรายมาตรา กับการแก้ไขเป็นหมวด ที่ต้องทำประชามติ เผยหากทำประชามติ กกต.ต้องไปยกร่างกฎหมายประชามติก่อน ระบุรัฐบาลมีธงแก้รัฐธรรมนูญเพราะพบปัญหาในการบริหารงาน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หากต้องมีการทำประชามติจะต้องเสียงบประมาณกว่า 3 พันล้านบาท ว่า หากต้องมีการทำประชามติก็จะต้องใช้งบประมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับการเลือกตั้ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกแก้รัฐธรรมนูญในแบบไหน ซึ่งมี 2 วิธี ๆ ที่ 1 คือ การแก้ไขรายมาตรา หรือ วิธีที่ 2 คือ การแก้ไขเป็นหมวด อาทิ หมวด 1 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับหมวดทั่วไป หมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หรือ หมวด 15 เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงคุณสมบัติต้องห้าม องค์กรอิสระ ซึ่งการแก้ไขส่วนเหล่านี้จะต้องทำประชามติ ซึ่งอาจมีความยุ่งยากและใช้เวลา
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากมีการทำประชามติ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดหางบประมาณ และต้องจัดทำกฎหมายประชามติ เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว ที่ผ่านมาเคยออกกฎหมายเกี่ยวกับทำประชามติมาแล้ว แต่ครั้งนั้นเป็นการออกตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนและยกเลิกไป เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยน กฎหมายการลงประชามติก็ใช้ไม่ได้
นายวิษณุ กล่าวว่า กกต.เคยส่งร่างกฎหมายประชามติ มายังรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1 เมื่อปี 2562 ซึ่งรัฐบาลเตรียมที่จะเสนอสู่รัฐสภา แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หมดวาระ และเปลี่ยนรัฐบาล กกต.จึงขอนำร่างกฎหมายประชามติไปปรับปรุง จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ส่งกลับมา แต่ตนได้รื้อดูกฎหมายประชามติเก่า ว่าจะสามารถนำกลับมาใช้ได้หรือไม่ พบว่าไม่ได้ เนื่องจากติดล็อคกับรัฐธรรมนูญอื่น ซึ่งหลังจากนี้ กกต.จะเป็นผู้ดำเนินการ และก็ต้องปรับปรุงจากบทเรียนที่พบในการทำประชามติที่ผ่านมา
นายวิษณุ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มี 2 ทางเลือกดังกล่าว ซึ่งข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 ก็คือการแก้หมวด 15 ซึ่งอยู่ในวิธีที่ 2 ตนไม่ขอตอบว่าการทำประชามติโดยใช้งบประมาณกว่า 3 พันล้านบาท จะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะหากมีความจำเป็นต้องแก้ไข ก็ต้องคุ้ม เหมือนกับที่ฝ่ายค้านให้ความเห็นว่า หากมีเหตุผลที่ต้องเสีย มีความจำเป็นก็ต้องทำ แต่อีกฝ่ายหนึ่ง มองว่าเป็นการสิ้นเปลืองเงินในยุคนี้ หากไม่จำเป็นจริง ๆ และไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นำไปสู่การทำประชามติ ไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียว เพราะหากมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็ต้องนำไปลงประชามติอีกครั้ง
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวทางของการแก้รัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานยังไม่เสร็จเรียบร้อย ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้พูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าอยู่ระหว่างรอข้อเสนอให้ส่งมาว่าจะแก้ไขรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลมีความคิดอยู่แล้วว่าจะทำอะไร แต่ขอรอฟังเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ขณะนี้เท่าที่ทราบฝ่ายค้านคิดจะแก้อย่างหนึ่ง รัฐบาลคิดจะแก้อีกอย่างหนึ่ง และพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้คิดตรงกัน ขณะที่ ส.ว.ก็คิดจะแก้ไขเช่นกัน
“ เมื่อเข้าสู่สภา ต้องใช้ 2 สภา ส.ส.บวก ส.ว.ประมาณ 750 คน การโหวตจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่งถึงจะผ่าน คือ 375 เสียง ซึ่งเป็นการลงคะแนนแบบเปิดเผย และการนับคะแนน เสียงของ ส.ว.250 ต้องมีเสียงเห็นชอบกับแก้รัฐธรรมนูญเข้ามาด้วย 1 ใน 3 หรือประมาณ 80 เสียง และหากเข้าสู่วาระ 3 ก็จะย้อนไปนับเสียงของฝ่ายค้านต้องมีเสียงเห็นชอบด้วย และหากได้ข้อสรุปว่าจะแก้ในรูปแบบไหน เป็นวิธี 1 ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่หากเป็นวิธีที่ 2 ก็จะต้องไปทำประชามติ ซึ่งต้องตกลงกันให้เข้าใจก่อน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาในสภา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าจะแก้ในรูปแบบใด” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องยึดข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ ชุดของนายพีระพันธุ์ทั้งหมด แต่หากถามใจรัฐบาลมีธงอยู่แล้วว่าจะแก้อะไร เพราะเมื่อบริหารงานมาตั้งแต่ปี 60 ก็พบปัญหา พรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นปัญหาตรงกัน โดยเฉพาะ ม.144 เพราะไปเปลี่ยนอำนาจ ส.ส.ในการพิจารณางบประมาณ ซึ่งเชื่อว่าหากจะแก้มาตรานี้ก็จะมีเสียงเห็นชอบอย่างท่วมท้น
เมื่อถามว่าการตั้ง สสร.นั่นหมายถึงการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญหมวด 15 ไม่ได้พูดถึง สสร. ดังนั้นการตั้งสสร.เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ คือ เท่ากับไปแก้ ม.256 ในหมวด 15 แต่หากมีการแก้แค่บทเฉพาะกาล ก็ไม่ต้องนำไปสู่การทำประชามติ อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่เคยพูดว่าไม่ต้องการให้มีการตั้ง สสร.
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ได้คิด เพราะยังไม่รู้จะรับมือในเรื่องใด ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการรับฟัง และใช้ความเห็นจากพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งคิดว่าจะมีการพิจารณากันในสมัยประชุมหน้า เพราะสมัยประชุมนี้เหลือระยะเวลาอีก 1 เดือน ซึ่งเป็นการประชุมร่วม และต้องใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณและอีกหลายเรื่อง .-สำนักข่าวไทย