สมาคมนักข่าวฯ 25 มี.ค.- ประธานครป. จี้คสช.ทบทวนการใช้ ม.44 ปิดปากคนเห็นต่าง ด้าน “วีระ” ท้าลงเลือกตั้ง ชี้ลงพื้นที่ตจว.หาเสียงล่วงหน้า เอาเปรียบพรรคอื่น ด้าน “สมชัย” ขอบคุณคสช.ใช้ม.44 ปลด ไม่ต้องเสี่ยงโดนฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเสวนาสาธารณะเรื่อง “มาตรา 44 เพื่อชาติ หรือเพื่อใคร?” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา คือ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) และวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.)
นายพิชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาคสช.ใช้อำนาจตาม ม.44 ไม่น้อยกว่า 200 ครั้ง โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ครั้ง นั่นคือการแก้ไขพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และการปลดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ออกจากกกต. โดยให้เหตุผลว่านายสมชายได้สร้างความสับสนแก่สังคมในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และมีคนขอมา จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า การใช้อำนาจยึดหลักการอะไร ส่วนตัวมองว่าเป็นการใช้อำนาจและอารมณ์ ปิดปากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคสช.จึงขอเรียกร้องว่าควรใช้อำนาจตามมาตรา 44 เฉพาะกรณีรักษาความสงบเรียบร้อย อย่าใช้กับผู้เห็นต่าง
“การใช้ ม.44 เป็นการแสดงอำนาจที่ขาดความยั้งคิดของระบอบศาสตราธิปไตย ซึ่งหมายถึงอำนาจอธิปไตยที่มาจากกองกำลังอาวุธ ปกติแล้วเรื่องกลไกพิเศษ สังคมไทยใช้กันมาหลายครั้ง แต่ก็ทำให้เกิดข้อบกพร่องหลายครั้งเช่นกัน รวมถึงสร้างผลกระทบต่อระบอบอำนาจแบบประชาธิปไตย การใช้ ม.44 ในกรณีรักษาความสงบเรียบร้อย สังคมก็พอรับได้ แต่หลายครั้งก็ใช้แบบไม่เลือก สะเปะสะปะ ทำให้ความน่าเชื่อถือลดลด” นายพิชาย กล่าว
นายพิชาย กล่าวด้วยว่ากรณีปลดนายสมชัย จากกกต. ทำให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต้องทำงานภายใต้บรรยากาศที่หวาดระแวง ไม่กล้าตัดสินใจในประเด็นที่จะกระทบต่อผู้มีอำนาจ ทำให้องค์กรอิสระไม่อิสระ ถือเป็นการล่มสลายของระบอบตรวจสอบในสังคมไทย กระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบอบประชาธิปไตย ในอนาคตอาจจะมีการใช้ ม.44 แทรกแซงองค์กรอื่นต่อไป จนทำให้กระทบการเลือกตั้ง จึงขอฝากคสช.ให้พึงระวัง คิดวิเคราะห์ให้ดีในการใช้ ม.44 ว่ากระทบต่อหลักกฎหมาย บรรทัดฐาน หรือบรรยากาศการสร้างประชาธิปไตยในอนาคตมากน้อยแค่ไหน หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้กับกระบวนการทางการเมือง แต่ถ้าเป็นเรื่องทุจริตหรือการรักษาความสงบเรียบร้อยก็สามารถใช้ ม.44 ได้
ขณะที่นายวีระ กล่าวว่า หลังจากมีรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 60 แล้วควรหยุดการใช้อำนาจตาม ม.44 ซึ่งที่ผ่านมามีหลายครั้งที่คสช.ใช้อำนาจโดยไม่เข้าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ เช่นกรณีปลดนายสมชัย อดีตกกต. ซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการ หรืออยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหาร เพราะกกต. เป็นองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60 ดังนั้น นายสมชัยจึงสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ แต่ถ้าหากทำผิดก็มีกลไกตรวจสอบอยู่แล้ว ส่วนข้อกล่าวหาว่านายสมชัยออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องเลือกตั้งจนทำให้ประชาชนเกิดความสับสนนั้น ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ตัดสิน
นายวีระ ยังตั้งข้อสังเกตการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าเสมือนการหาเสียงล่วงหน้า และถือว่าเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ดังนั้นหากคสช.อยากอยู่ในอำนาจต่อ ก็ควรลงสมัครรับเลือกตั้ง
ด้านนายสมชัย ยืนยันว่าไม่ได้พูดจาสับสน ทำให้สังคมเข้าใจผิดเรื่องการเลือกตั้งตามที่คสช. กล่าวหา ทุกอย่างพูดตามหลักกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาตนเคยทำนายไปแล้ว 6 เรื่องและเป็นความจริง 5 เรื่อง อีกหนึ่งเรื่องรอการพิสูจน์ ส่วนเรื่องที่ตนพูดซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ถูกปลด นั่นคือ ใครเป็นคนกำหนดการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีเข้าใจผิด และไม่มีใครกล้าออกมาปกป้อง เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 60 กำหนดให้รัฐบาลเป็นคนประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง โดยกกต.เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน หลังจากพระราชกฤษฎีกาออกมา พร้อมกันนี้ขอบคุณคสช.ที่ปลดพ้นจากการเป็นกกต.ทำให้ไม่ต้องเสี่ยงโดนฟ้องหากต้องจัดการเลือกตั้งในอนาคต