สุรินทร์ 25 ก.ค.- “ไชยชนก” ขอบคุณทุกภาคส่วนรวมพลังช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงคราม ห่วงจุดพักพิงสุรินทร์อาจอยู่ในแนวปะทะ เตรียมหาที่ใหม่ปลอดภัยกว่าเดิม เตรียมปรึกษาผู้มีอำนาจช่วยเหลือชาวบ้านไม่ออกนอกพื้นที่
นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และ นส.ผกามาศ เจริญพันธ์ สส.สุรินทร์ เขต 3 พรรคภูมิใจไทย ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน และให้กำลังใจกับผู้อพยพชาวจังหวัดสุรินทร์
นายไชยชนก ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในจังหวัดสุรินทร์เบื้องต้น ว่า ขอบคุณทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน หรือภาคประชาชน ทุกคนรวมพลังกัน เราได้เห็นว่าตอนนี้คนไทยพอเกิดปัญหาเกิดวิกฤต รักและสามัคคีกัน ในเรื่องของอาหารการกินหรือสิ่งของ แม้ตอนนี้ยังมีส่วนที่ขาดอยู่บ้างแต่ขอเพียงแค่เอ่ยปากทุกคนก็รวมพลังกันในการจัดส่งทุกอย่างมา มาที่นี่เราได้คุยกันหลายภาคส่วน แชร์ความคิดกันเยอะ เบื้องต้นที่ตนเห็นเนื่องจากเป็นการขยับเขยื้อนอย่างฉุกเฉินออกมานอกสถานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากระยะของยุทโธปกรณ์และการตัดสินใจที่จะยิงมาที่ภาคประชาชนในชุมชน ทำให้จุดอพยพที่เคยเตรียมไว้ต้องมีการปรับเปลี่ยนฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนทำหน้าที่ได้ดีมาก แม้จะมีความชุลมุน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงจากเมื่อวาน (24 ก.ค.) ถึงสองถึงสามจุดกว่าจะมาถึงจุดนี้ ทุกคนก็ทำทุกอย่างสุดกำลัง ไม่ใช่แค่ในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีด้วยเช่นกัน และจุดนี้ที่เราอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ จุดอพยพต่างๆ อยู่ห่างประมาณ 70 – 90 กิโลเมตร ตามข้อมูลที่มีจุดยุทธโธปกรณ์ของกัมพูชา ยิงได้ไกลสุดถึง 100 กิโลเมตร เป็นสิ่งที่เรากำลังประชาสัมพันธ์กับประชาชน และหน่วยงานราชการก็กำลังเตรียมสถานที่ที่หลุดพ้นจากระยะทาง 100 กิโลเมตร เพื่อให้มีความพร้อมในการโยกย้ายให้เร็วที่สุด
“เป็นสิ่งที่เราทำแม้จะละเอียดอ่อน ชาวบ้านทั้งเหนื่อย ทั้งกลัว ตกใจที่อยู่ตรงนี้ในทุกวัยทุกเพศ อาจจะไม่ได้ยิน แต่เราจำเป็นต้องบอก เพื่อให้เตรียมตัวเตรียมใจ เพราะถ้าเกิดต้องย้าย สภาวะจิตใจไม่พร้อม จะเกิดการไม่ให้ความร่วมมือ จะเกิดความกลัวขึ้น” นายไชยชนก กล่าว
นายไชยชนก กล่าวว่าเห็นทุกภาคส่วนทำงานอย่างเต็มที่ พูดแทนในนามของพรรคภูมิใจไทยได้ เรากำลังทำแบบนี้ในทุกสถานที่อย่างสุดกำลัง ตนส่งกำลังใจไปสู่กองทัพ ทุกหน่วยงานที่กำลังทำอยู่ในพื้นที่ และอีกเรื่องหนึ่งที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาที่เราเห็นชัดตั้งแต่อยู่ฝั่งรัฐบาล ได้ลงมาเตรียมความพร้อมในการอพยพทั้งเรื่องของภัยธรรมชาติ ภัยความมั่นคง เรารู้แล้วว่าคนไทยเป็นห่วงและรักบ้านและทรัพย์สิน แม้กระทั่งในสถานการณ์แบบนี้ที่มีการอพยพออกมาเยอะ การพูดคุยกับแม่ๆ หรือพูดคุยกับผู้อพยพ ส่วนใหญ่จะมีผู้หญิงมาอยู่เยอะกว่า เหตุผลเพราะเขาเป็นห่วงทรัพย์สิน คุณตา คุณปู่ คุณพ่อหลายคนยังอยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่กังวลแค่เพียงทรัพย์สิน บ้านเรือน สิ่งของ ยังมีทรัพย์สินที่เป็นสิ่งมีชีวิต หรือสัตว์เลี้ยงที่ทำให้เขาไม่กล้าหรือไม่อยากที่จะออกมา อันนี้เป็นปัญหาสำคัญที่กำลังคิดทบทวนว่าจะหาทางออกอย่างไร จะนำเสนอในทุกภาคส่วน เสนอเป็นนโยบาย สิ่งที่คิดเบื้องต้นไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ คงต้องพึ่งพาทหารอีกแล้ว ถ้าสามารถแบ่งกำลังพลที่ไม่ได้อยู่แนวหน้ามาช่วยดูแลรักษาทรัพย์สิน เบื้องต้นอาจจะสามารถทำให้ประชาชนที่เป็นห่วงเรื่องนี้ยอมอพยพออกมาเพิ่มเติมได้ ต้องพูดคุยกับฝ่ายบริหาร ตนจะทำอย่างเต็มที่ในการรวบรวมประเด็นปัญหา และพยายามนำปัญหาเหล่านี้ไปเสนอกับผู้รับผิดชอบ ขอบคุณแทนประชาชนในทุกพื้นที่ กำลังใจที่พวกท่านส่งมาไม่ว่าจะเป็นความห่วงใยหรือสิ่งของสิ่งจำเป็น อาหารต่างๆ เขาได้รับแน่นอน และเขาจำเป็นจะต้องใช้ ขอบคุณคนไทยทุกคนที่รวมพลังกันและอยากให้ทำต่อไป
นายไชยชนก ยังเผยถึงความเป็นห่วงในศูนย์อพยพด้วยว่า สถานที่แออัดสิ่งที่เกิดขึ้นเวลามีผู้ป่วยที่ป่วยหนัก หรือป่วยประจำ เมื่อมีการลุกลามจะทำให้เหนื่อยมากขึ้น ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่รองรับไว้ก็มีประโยชน์อยู่แล้ว แต่พื้นที่ที่เราอพยพต้องมีการแบ่งโซนเพื่อจัดการผู้ป่วยที่ป่วยหนักให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ลุกลาม -สำนักข่าวไทย