ศาลปกครอง 22 พ.ค.-เปิดคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้ คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ประมาทไม่ตรวจสอบทุจริตขายข้าวจีทูจี สั่ง “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้หมื่นล้าน พร้อมกันทรัพย์ให้สามี
ศาลปกครองสูงสุด โดยนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และตุลาการเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะในคดีออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีที่กระทรวงการคลังยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่สั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 135/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการ เป็นเงิน 35,717,273,028 บาท ในคดีที่ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ร่วมกันยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร กรณีที่ร่วมกันมีคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษา เป็นให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะส่วนที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป และให้เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใดๆ ของกรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6 ที่มีคำสั่ง ประกาศหรือการดำเนินการใดๆ ในการยึด อายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด อันเป็นการบังคับตามมาตรการทางปกครอง ที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป รวมทั้งให้ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง ดำเนินการสั่งการเกี่ยวกับการขอกันส่วนทรัพย์สินที่ถูกยึดเพื่อนำมาขายทอดตลาดตามสิทธิของนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามีนอกสมรสของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 37 รายการ และแจ้งให้กรมบังคับคดีจัดทำบัญชีรับ-จ่าย เพื่อกันส่วนให้นายอนุสรณ์ ในฐานะเจ้าของร่วม รวมทั้งแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้แก่นายอนุสรณ์ ทราบภายใน 60 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา
ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า คดีนี้รับฟังได้ว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แยกพฤติการณ์การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนที่ 1 การดำเนินการ ในส่วนของนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือก ที่แถลงต่อรัฐสภา ไม่มีส่วนที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดทางละเมิดต่อกระทรวงการคลัง แต่ในส่วนที่ 2 ในการดำเนินการ ให้การปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธาน กขช.ย่อมอยู่ในฐานะที่จะต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการที่คณะรัฐมนตรี ในขณะนั้น อนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ประจำปีการผลิต ระหว่างปี 2554-2557 ใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1 การตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 2 การนำข้าวเปลือกไปจำนำและเก็บรักษาข้าวเปลือก 3 การสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร และ 4 การระบายข้าว ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้รับทราบว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีปัญหาเกิดขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก มีการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้นในหลายขั้นตอน ขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ปล่อยปละละเลย เป็นช่องทางให้ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการกระทำการทุจริต อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมดังกล่าวไม่เป็นถึงการประมาทเลินเล่อ ศาลพิจารณาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในการจำนำข้าวเปลือก ประจำปีการผลิต ระหว่างปี 2554 -2557 แต่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายการระบายข้าวโดยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี จากความเสียหาย กว่า 20,057,723,761.66 บาท เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบปัญหาการทุจริตแล้ว แต่ไม่ได้ติดตามกำกับดูแล เห็นได้จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธาน กขช. เข้าร่วมประชุม กขช.เพียงครั้งเดียว จนเกิดการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ ในสัญญาซื้อขายข้าว 4 ฉบับ ส่งผลให้มีปัญหาการระบายข้าวไม่ทัน ต้องเก็บรักษาข้าวในคลังเป็นเวลานาน จนข้าวเสริมคุณภาพ และสูญเสีย พฤติการณ์ของนางสาวยิ่งลักษณ์จึงเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ต้องรับผิดทางละเมิดต่อกระทรวงการคลัง และต้องกำหนดสัดส่วนรับผิดในอัตราร้อยละ 50 ของความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นเงิน 10,028,861,880.83 บาท ดังนั้น คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 135/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 ที่เฉพาะส่วนที่เรียกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การยึด อายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และเมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มาภายหลังจากการอยู่กินฉันสามีภริยากับนายอนุสรณ์ โดยมีเจตนาเปิดเผยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2538 อีกทั้งทั้งสองยังได้มีบุตรด้วยกัน พฤติการณ์ย่อมถือได้ว่า มีเจตนาเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน นายอนุสรณ์ จึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่มีส่วนในทรัพย์สินเท่ากันกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แม้จะไม่ปรากฏชื่อนายอนุสรณ์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าวก็ตาม ดังนั้น นายอนุสรณ์ จึงเป็นผู้มีสิทธิขอกันส่วนในทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6 การที่ กระทรวงการคลัง โดยปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิเสธการขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวมซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดมาจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดต่อ นายอนุสรณ์ ด้วย.-314.-สำนักข่าวไทย