อยุธยา 21 พ.ค. – “ไชยชนก” ยก อยุธยารับมือภัยน้ำท่วมดีที่สุด พร้อมกระตุ้นทุกภาคส่วนรับมือภัย ลานีญา-น้ำท่วม หวังนำความรู้จากคนในพื้นที่รับมืออุทกภัยทั่วประเทศ วอนทุกคนฟังเสียงเตือนจากธรรมชาติ ด้าน ปภ. มั่นใจเตือนภัยทันเวลาสถานการณ์น้ำ
นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน ร่วมงานเสวนาเชิงวิชาการ หัวข้อ “การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และการแจ้งเตือนสาธารณะภัยในระดับพื้นที่” ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกล่าวบนเวทีว่า ตนเป็นตัวตั้งตัวตีให้คนในพรรคภูมิใจไทย ตื่นตัวในความไม่ปกติของธรรมชาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รวบรวมบูรณาการการทำงานระหว่างมหาดไทยและ อว. ในการเชิญภาคเอกชนมาระดมมันสมอง หาสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้
นายไชยชนก กล่าวว่า สิ่งที่พวกเราได้ปรึกษาหารือและเจตนาของการรวมตัวกัน เพื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะหน่วยงานหรือผู้บริหารท้องถิ่นทุกระดับ เรามาด้วยความนอบน้อม ตระหนักดีว่าประชาชนและฝ่ายบริหารของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีทั้งประสบการณ์ ความสามารถ องค์ความรู้ในการรับมือภัยน้ำท่วมดีที่สุดในประเทศ พวกเรารู้ดีว่าชาวอยุธยาไม่ใช่แค่เพียงปรับตัวกับสถานการณ์ภัยน้ำท่วมที่เผชิญทุกปี แต่ปรับถึงขั้นเป็นวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ และความยืดหยุ่น มีความพร้อมที่จะรับมือกับภัยธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำท่วม
นายไชยชนก กล่าวอีกว่า เหตุผลหลักที่ตนมาในวันนี้ไม่ใช่เพื่อบอกเพื่อสอน แต่เพื่อมาเรียนรู้ สิ่งที่เราคาดการณ์และวิเคราะห์ว่าจะเกิดขึ้นคือ ลานีญาที่มาเร็วกว่าที่คิด และจะหนักขึ้นเรื่อยๆ การมาในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อสร้างความรู้ แต่มาเพื่อเอาองค์ความรู้จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเจอภัยน้ำท่วมในอนาคต สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นของลานีญาจะมากขึ้นจนถึงกลางปีหน้า พวกเรารวมตัวมาเพื่อทำให้พวกท่านได้เห็นว่าเราเองก็ตื่นตัว ตระหนักถึงความไม่ปกติ จะทำหน้าที่ในแต่ละหน่วยงานอย่างสุดความสามารถ เพื่อมอบข้อมูลช่วยเหลือให้พวกท่านได้รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และเรามาเพื่อเรียนรู้จากพวกท่าน เพื่อนำข้อมูลไปช่วยคนไทย ขอฝากเนื้อฝากตัวกับพวกท่าน
นายไชยชนก กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ มีข้อมูลและสถิติ ทำให้เห็นว่าความไม่ปกติเป็นอย่างไร โดยเฉพาะ 2 เดือนที่ผ่านมา ตนลงพื้นที่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา ชาวบ้านทุกคนเห็นว่าไม่ปกติ ตนเชื่อว่าทุกท่านหากดูจากเดือนเมษายนจนถึงวันนี้ เจอสภาพอากาศถึง 4 ฤดูในวันเดียวกัน วนเวียนในรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ฝนตก 15 นาที เป็น 30 นาที จนตกทั้งวัน ในอนาคตจะตกยาว 3 วันที่จะขับเคลื่อนมาจากฝั่งตะวันตกไปทางตะวันออก ตนอยากให้ทุกท่านเปิดใจรับฟังธรรมชาติ รับฟังในสิ่งที่เราเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พายุเห็บในภาคอีสาน พายุฤดูร้อน น้ำท่วมภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ทุกอย่างเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ธรรมชาติเตือนเราเสมออย่างเป็นขั้นตอน เราไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าฤดูฝนจะหนักแค่ไหน ดินฟ้าอากาศไม่มีอะไรแน่นอน แต่สิ่งที่เราเห็นคือ ฤดูร้อนน้ำเยอะแบบไม่ปกติ สภาวะอากาศทั่วประเทศก็ไม่ปกติ และสถานการณ์หนักขึ้นเรื่อยๆ จนเรากำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน สิ่งเดียวที่อยากจะให้ทำคือ เปิดใจรับฟังธรรมชาติ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท แต่ละหน่วยงานตระหนักและระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อให้เห็นวันต่อวันกำลังจะเกิดอะไรขึ้น ฝนไม่ได้ตกหนักมากที่สุดในภาคกลาง แต่จะหนักที่ภาคเหนือและภาคอีสาน อยากให้ทุกคนระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะน้ำจะไหลร่วมกันจากแม่น้ำหลักและลงที่อยุธยา พวกท่านเตรียมตัวรับมือได้หรือไม่ วันนี้อยากจะให้เตรียมตัวและคอยดูสถานการณ์ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จะได้แบ่งเบาและลดความเสียหายให้กับชาวอยุธยาจากการเกิดน้ำท่วมแบบฉับพลัน
“พวกเราตื่นตัว แต่ความตื่นตัวของเราไม่ได้รองรับว่าจะไม่เกิดความเสียหาย แต่จะสามารถลดได้คือพวกท่านที่เป็นวีรบุรุษหน้างาน ที่คอยเตรียมตัว สื่อสาร และรับมือกับภัยที่จะเกิดขึ้น ช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตื่นตัวไปกับเรา”นายไชยชนก กล่าว

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปภ. เป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการจัดการสาธารณะภัยทุกประเภท ข้อมูล ปภ. ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะ 8 หน่วยงาน เมื่อได้รับข้อมูลมาที่ ปภ. จะรายงานข่าว วิเคราะห์ข่าว และกระจายข่าว ข้อมูลต้นทางต้องมาอย่างครบถ้วนในการจะออกคำเตือนแจ้งประชาชน ข้อมูลต้องชัดเจน ถึงจะแจ้งเตือนประชาชนตามข้อกำหนดของ ปภ. สำหรับผู้บริหารท้องถิ่นมีส่วนสำคัญ ไม่ใช่รับข้อมูลวิชาการและออกคำเตือน เราจะมองไม่เห็นพื้นที่จริงว่าเป็นอย่างไรถ้า ต้องรีเช็คไปในพื้นที่ให้ช่วยดูข้อมูลจากต้นทางว่าปริมาณน้ำฝนมีปริมาณเท่าไหร่ รวมทั้งเช็คในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร เป็นไปตามข้อมูลจริงหรือไม่ เมื่อพื้นที่ได้รับข้อมูลก็จะแจ้งมาที่ ปภ. จึงจะทำการแจ้งเตือนตามข้อกำหนด วิธีการแจ้งเตือนมีหลายระดับ ไม่ว่าเรื่องการรายงานทางแอพพลิเคชั่น LINE Facebook YouTube LINE Alert และ รวมทั้ง SMS แจ้งส่วนข้าราชการทุกจังหวัด เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารว่าพื้นที่ไหนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย ให้ทำความเข้าใจกับประชาชน แล้วแจ้งที่ศูนย์ ปภ. ทั้ง 18 เขต ที่มีเครื่องจักรสาธารณภัยขนาดใหญ่ สามารถจะนำเครื่องมือลงไปลงพื้นที่ช่วยประชาชนได้ทันที ช่วงอุทกภัย ปภ. เตรียมความพร้อมรวมทั้งนำเครื่องจักรไปอยู่ในจุดที่จะมีปัญหาเกิดขึ้น รวมทั้งบุคลากรตามที่ร้องขอ
อธิบกีปภ. ยังกล่าวถึงวิธีการแจ้งเตือนว่ามีหลายช่วง หากความรุนแรงถึงขั้นกระทบต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน ปภ. จะส่ง SMS และ Cell Broadcast (CBS) ที่ได้ทดสอบทั้งสามระบบ ไม่ว่าจะขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ซึ่งรวมพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากมีความจำเป็นจะนำ CBS มาใช้ แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ครบถ้วน 100% คาดว่าไม่เกิน 2 เดือนนี้ จะมีความสมบูรณ์ แต่ไม่เป็นอุปสรรคในการแจ้งเตือนภัย และการแจ้งเตือนจะต้องมีระดับความรุนแรงมากกว่าที่กำหนด.-319 -สำนักข่าวไทย