กรุงฮานอย 15 พ.ค.- นายกฯ พบนักธุรกิจไทยในเวียดนาม รับฟังข้อเสนอเตรียมข้อมูลจัดทำนโยบายให้สอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยบนเวทีโลก ชื่นชม ThaiCham เป็นกลไกสำคัญในการประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเวียดนามในระดับภาคเอกชน
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับภาคเอกชนของไทยที่มาลงทุนอยู่ในประเทศเวียดนาม ที่โรงแรม Melia Hanoi กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในโอกาสเดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามอย่างเป็นทางการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนไทย โดยผู้บริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (Thai Chamber of Commerce and Industry: ThaiCham) ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 140 บริษัท
สำหรับผู้บริหารภาคเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนาม ที่ร่วมหารือ อาทิ นายประวีณ วิโรจน์พันธุ์ ประธาน ThaiCham และผู้จัดการทั่วไป SCG Vietnam และบริษัทไทยที่มีบทบาทสำคัญในเวียดนาม อาทิ SCG, AMATA, WHA, KASIKORNBANK, EXIM Bank, CP Group, Super Energy, Central Retail, ThaiBev และ Siam Piwat เป็นต้น
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชม ThaiCham ที่เป็นหอการค้าไทยในต่างประเทศที่เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่ง และกล่าวถึงการเยือนครั้งนี้ ว่าเป็นการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี และเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการในรอบ 10 ปี ในระดับนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งจะได้นำคณะรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมการประชุม Joint Cabinet Retreat ไทย – เวียดนาม ในวันพรุ่งนี้(16 พ.ค.)ด้วย โดยจะหารือประเด็นความร่วมมือและประเด็นในการเจรจาต่างๆ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยง รวมถึงผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับทวิภาคีและในกรอบประชาคมเอเซียตะวันออก เฉียงใต้ หรือ อาเซียน เพื่อร่วมรับมือกับความเสี่ยงต่างๆที่มาจากปัจจัยภายนอกภูมิภาค
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงสาระสำคัญ ของการเยือนครั้งนี้ คือ การประกาศยกระดับความสัมพันธ์ไทย – เวียดนามให้เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน หรือ Comprehensive Strategic Partnership ซึ่งเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เวียดนาม มีกับไม่กี่ประเทศ และจะเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมความร่วมมือ ระหว่างสองประเทศให้ลึกซึ้งและรอบด้านมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายของประเทศไทย ในแง่การดึงดูดการค้าและการลงทุน ในขณะเดียวกันเป็นโอกาสใหม่สำหรับประเทศไทยเช่นกัน จึงขอรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักลงทุนไทยที่ได้เข้ามาขยายการลงทุนธุรกิจในประเทศเวียดนาม เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการจัดทำนโยบายของไทยที่เกี่ยวข้อง อาทิ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยเฉพาะจุดแข็งและแนวปฏิบัติของเวียดนาม ในการผลักดันการค้าและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ผลกระทบและแนวทางของเวียดนามต่อมาตรการภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงการขยายโอกาสด้านการค้าการลงทุนของไทย และการขยายร่วมมือกับเวียดนามในอนาคต
ด้านผู้แทนภาคเอกชนไทย ในเวียดนามได้ให้มุมมองเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม และบทเรียนที่ประสบความสำเร็จของเวียดนาม เช่น การสร้างระบบนิเวศเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การสร้างความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลก การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีต้นทุนการผลิต ต่ำ รวมถึงการมีสัดส่วนประชากรในวัยทำงานสูงที่ช่วยส่งเสริมการบริโภค เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณภาคเอกชนไทยที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ในระดับประชาชนและเศรษฐกิจ พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจไทยในต่างประเทศ และรับข้อเสนอที่ได้รับ เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยบนเวทีโลก และชื่นชมที่ ThaiCham เป็นกลไกสำคัญในการประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเวียดนามในระดับภาคเอกชน .-316 -สำนักข่าวไทย