ทำเนียบ 17 ม.ค.- “ภูมิธรรม” นำถก สมช. หลังลงพื้นที่ชายแดนใต้วานนี้ เร่ง สมช.ส่งการบ้านกำหนดยุทธศาสตร์แก้ปัญหาพื้นที่ ปัดโทษหน่วยงาน 20 ปีดับไฟใต้ไม่ได้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวก่อนการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ถึงการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของนายกรัฐมนตรี วานนี้ (16 ม.ค.) ว่า ตนในฐานะที่ดูแล กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และสมช. ได้มองเห็นอะไรในหลายๆ มิติ ซึ่งตนจะนำมาสะท้อนต่อที่ประชุม สมช.วันนี้ ซึ่งสอดรับกับคำสั่งการของตน ที่อาจจะต้องมานั่งคิดใหม่ว่า 20 ปีที่ผ่านมา กระบวนการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้มีอะไรที่ถูกหรือผิดบ้าง เพื่อที่จะสามารถกำหนดอะไรใหม่ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งช่วงสิ้นเดือนม.ค.นี้ จะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง หลังจากที่ให้การบ้านไปศึกษาทำความเข้าใจ และวานนี้ (16 ม.ค.) ก็ได้มีการพูดคุยกับพลเอกพนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น ในการตัดสินใจว่าจะจัดการเรื่องราวต่างๆ ในภาคใต้อย่างไร เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์
ขณะที่กระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้จะเดินหน้าต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ที่จะกำหนดหลังจากนี้ ถ้ามีการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่จะต้องมีการหาคณะทำงานให้สอดรับกัน ซึ่งตนก็มีคำถามว่าการเจรจาของทางฝั่งคู่เจรจามีอำนาจเต็มจริงๆ หรือเปล่า เพราะระหว่างพูดคุย ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นหากเราจะพูดคุยกันก็ต้องพยายามยุติความรุนแรง เวลานี้ฝ่ายทหารไม่ได้ไปรุกทำร้ายอะไร เพียงแต่เรารักษาสถานการณ์เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากการเจรจาเดินหน้าไปแต่เหตุร้ายก็ยังเกิดขึ้น สำหรับความเห็นของตนตอนนี้ถ้าเป็นเช่นนั้นประโยชน์ถือว่าน้อย ขอย้ำว่า ขณะนี้ตนจะยังไม่พิจารณาอนุมัติอะไรจนกว่าจะมียุทธศาสตร์ให้ได้เสียก่อน
เมื่อถามว่า การที่ระบุว่า 20 ปีไม่มีอะไรคืบหน้า จำเป็นจะต้องมีการสังคายนาหน่วยงานที่ดูแลในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ที่ตนพูดอาจจะรวบรัดเกินไป ไม่มีความคืบหน้าหมายความว่า โดยภาพรวมเหตุก็ยังเกิดไม่สามารถยุติได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกหน่วยงานมีปัญหา ส่วนหน่วยงานใดจะมีปัญหาบ้างก็ขึ้นอยู่กับการทบทวน ว่าการบูรณาการทำได้จริงหรือไม่ แต่ละหน่วยทำงานเหมาะสมหรือสอดรับกันหรือไม่ พร้อมย้ำว่าต้องทบทวนทั้งหมดอย่าเพิ่งไปดูว่าเรากำลังตำหนิหน่วยงานใด
ขณะเดียวกัน นายภูมิธรรม ยังระบุว่า ที่ประชุมสมช.ในวันนี้ (17 ม.ค.) จะมีการหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นย้ำว่าการพูดคุยจะต้องเป็นวาระสม่ำเสมอไม่ใช่รอเป็นเดือนเป็นปี ซึ่งตนพยายามให้ฝ่ายนโยบาย และฝ่ายปฏิบัติพูดคุยกันให้มากขึ้น เพื่อเข้าใจปัญหาและความคิดของแต่ละฝ่าย เพื่อเร่งบูรณาการงานร่วมกันได้ เพราะที่ผ่านมาบูรณาการเป็นเพียงการเอาข้อมูลมาทำงานร่วมกันซึ่งไม่ใช่การแก้ไขปัญหา.-315 -สำนักข่าวไทย