ศาลรัฐธรรมนูญ 11 ธ.ค.- ศาลรัฐธรรมนูญยก 7 คำร้อง ขอให้วินิจฉัยเลือก สว.ไม่ชอบ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับ 7 คำร้องที่มีการร้องขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ประกอบด้วยคำร้องของนายสมบูรณ์ ทองบุราณ นายวัฒนา ชมเชย ว่าที่ร.ต.วิชชุกร คำจันทร์ นายจิรัฎฐ์ แจ่มสว่าง นายปรีชา เดชาเลิศ นางฤติมา กันใจมา พล.ต.หญิง บุณญารัศมิ์ พัฒนะมหินทร์ และคณะ ที่ร้องว่า กกต. นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นไปโดยลับ ใช้ดุลพินิจในการรับสมัครผู้สมัครโดยไม่ชอบ ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้อง ปล่อยการให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ใช้กลไกกระทรวงมหาดไทย ทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมาตรฐานจริยธรรม และขอให้ศาลสั่งให้การเลือก สว.เป็นโมฆะ
โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีทั้ง 7 คำร้อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาของ กกต. และขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นกรณีตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 47 (2) ที่บัญญัติว่า “การใช้สิทธิยื่นคำร้องตาม มาตรา 46 ต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้…. (2) รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว” ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้นผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
สำหรับกรณีผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 48 โดยยื่นคำร้อง ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231(1) ซึ่งไม่ใช่การยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 ประกอบมาตรา 48 .314.-สำนักข่าวไทย