ก.มหาดไทย 1 ธ.ค.-“อนุทิน” รมว.มหาดไทย เชื่อสถานการณ์น้ำท่วมใต้เริ่มคลี่คลาย หลังปริมาณฝนลดลง เตรียมสำรวจความเสียหาย จ่อของบกลางเยียวยาในที่ประชุม ครม. สัปดาห์นี้ เผยนายกฯ บอกไม่ต้องประเมิน หากพบมีความเสียหายควรให้ 9,000 บาททันที
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ว่า จากการพยากรณ์อากาศมีความชัดเจนว่า ปริมาณน้ำฝนน่าจะเริ่มลดลง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จึงเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะเริ่มคลี่คลาย เพราะอุทกภัยภาคใต้นั้นแตกต่างจากภาคเหนือ เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนมากเพียงอย่างเดียว หากผลักดันน้ำลงสู่ทะเลได้ทุกอย่างก็จะดีขึ้น ซึ่งจากการติดตามความคืบหน้าจากผู้ว่าราชการจังหวัด พบว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ขณะที่การประเมินความเสียหาย ทั้งบ้านเรือนประชาชน และระบบสาธารณูปโภค ต้องรอให้น้ำลดลงก่อนถึงจะเข้าไปตรวจสอบได้ รวมทั้งเรื่องสุขภาพของประชาชน เพราะช่วงที่วิกฤตที่สุดก็คือ หลังน้ำลด
ส่วนกรณีที่มีอาจารย์มหาวิทยาลัยถูกไฟดูด ขณะเกิดเหตุน้ำท่วมนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการกำชับกับการไฟฟ้า ให้ดูแลพื้นที่ในส่วนที่น้ำเข้าท่วม ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวัง การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือน และทางจังหวัดได้มีการจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งมีการอพยพประชาชนเข้ามาพักพิง ตนได้กำชับให้ดูแลชาวบ้านอย่างมีมาตรฐาน ทั้งเรื่องอาหารการกิน ที่นอนหมอนมุ้ง ตลอดจนสุขอนามัย สะอาดได้มาตรฐานไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อ พร้อมทั้งมีการอนุมัติเงินใช้ทดลองฉุกเฉินเพิ่มอีก 50 ล้านบาท ในจังหวัดเสี่ยงภัย รวมเป็นจังหวัดละ 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสม เชื่อว่า สามารถดูแลประชาชนได้
ส่วนเงินเยียวยานั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือปภ. อยู่ระหว่างประสานกับจังหวัดที่ประสบภัย ซึ่งส่วนใหญ่ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยทั้งจังหวัดอยู่แล้ว จะทำให้สามารถดำเนินการได้เร็วมากยิ่งขึ้น เมื่อการสำรวจความเสียหายหากเข้าเกณฑ์ ก็จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วจะมีการโอนเงินเข้าสู่บัญชีผู้ประสบภัยโดยตรง แบบเดียวกับการเยียวยาอุทกภัยที่ภาคเหนือ พยายามจะเร่งเสนองบประมาณเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการใช้งบกลางของนายกรัฐมนตรี จึงต้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาข้อมูลก่อน
นายอนุทิน ยังระบุถึงหลักเกณฑ์เยียวยาว่า เป็นไปตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้มาตั้งแต่อุทกภัยในภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี สั่งการว่า ความเดือดร้อนขนาดนี้ไม่ประเมินความเสียหาย ควรใช้เกณฑ์สูงสุดครัวเรือนละ 9,000 บาท เนื่องจากน้ำนั้นมากกว่าปกติถึง 2 เท่า และไม่ได้มาตามฤดูกาล ซึ่งน่าจะต้องใช้หลักเกณฑ์นี้ไปจนถึงสิ้นปี ก่อนที่ปีหน้าจะต้องสู้กับปัญหาหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 และปัญหาภัยแล้งอีก.-312.-สำนักข่าวไทย