กทม. 31 ต.ค.- ‘พิธา’ ชี้ ‘เพื่อไทย’ ควรได้สิทธิชี้แจง ปม ‘คำร้องทักษิณครอบงำ’ มองไม่ควรมี 2 มาตรฐานยุบพรรค แต่ต้องเป็นไปตามสัดส่วนความผิด บอกขนาดคนทำรัฐประหาร ยังไม่เห็นเคยรับโทษ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึกรณีคำร้องยื่นยุบพรรคเพื่อไทย จากเหตุนายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรค ซึ่งล่าสุด นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เตรียมพิจารณานำ 4 คำร้องมารวมกัน ว่า ต้องดูกระบวนการร้องนั้นได้สัดส่วนหรือ แต่ไม่ควรนำมาใช้ในคำร้องการยื่นยุบพรรคการเมือง ส่วนกรณีที่นายทักษิณ เรื่องครอบงำพรรคหรือไม่นั้น ตนไม่เกี่ยว
แต่อย่างไร ในภาพใหญ่ไม่ควรให้พรรคการเมืองที่มาจากประชาชนต้องตายโดยองค์กรอิสระได้ เพราะจะเกิดคำถามว่า องค์กรอิสระมีที่มาจากไหน ความโปร่งใส และความรับผิดชอบเป็นอย่างไร เรื่องนี้ต้องพิจารณาความเหมาะสมของสัดส่วนกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับบทลงโทษ ถ้าถูกครอบงำจริง บทลงโทษก็ควรได้สัดส่วนตามระดับของความผิด ไม่ใช่ทุกเรื่องจะต้องถูกยุบพรรคหมด ตนคิดว่าไม่เป็นไปตามหลักการ และสามัญสำนึก
ส่วนรายละเอียด ตนไม่สามารถตอบได้ทั้งหมดเพราะยังไม่ได้อ่านคำร้อง แต่บทลงโทษต้องเป็นไปตามสัดส่วนความผิด ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญหรือ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ปกปักษ์รัฐธรรมนูญ การเกิดรัฐประหาร โทษควรจะหนักกว่าการครอบงำพรรค แต่เหตุใดคนทำรัฐประหารไม่เห็นได้รับโทษเลย
ส่วนกรณีที่นายอิทธิพร ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุ กกต.มีระเบียบรวมข้อเท็จจริงและหลักฐานข้อ 7 วรรค 2 ระบุว่า จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องมารับทราบข้อเท็จจริง และมีโอกาสแสดงความคิดเห็น และเสนอเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณานั้น เมื่อย้อนไปเทียบเคียงการพิจารณาคำร้องยุบพรรคก้าวไกล มีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร
“ในส่วนของพรรคก้าวไกลตอนนั้นมีข้อต่อสู้ ไม่มีโอกาสได้ชี้แจงตามระเบียบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ตอนนี้ระเบียบดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้ว พรรคเพื่อไทยควรได้มีโอกาสชี้แจง เพราะถ้าได้ชี้แจง เรื่องจะจบที่ กกต.ไม่ถึงศาลรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยมีสิทธิ์ได้รับสิทธิ์ เพราะเป็นระเบียบที่ทุกพรรคการเมืองควรจะได้รับระเบียบนั้น อย่างที่ตนเคยอ่านถ้อยแถลงพรรคก้าวไกลว่า การพิจารณายุบพรรค ไม่ควรมี 2 มาตรฐาน ไม่ควรมีการยุบพรรคแบบทางด่วน และไม่ควรมีการยุบพรรคแบบทางธรรมดา และการให้พรรคชี้แจงเป็นสิทธิ ไม่ไปผูกขาดอำนาจของ กกต.” นายพิธา กล่าว
ส่วนสถานการณ์พรรคเพื่อไทยที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหา ทำให้มีวิเคราะห์ว่าพรรคเพื่อไทยอาจชิงยุบสภาก่อนนั้น นายพิธา มองว่า เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีด้วย การเมืองย่อมเกิดขึ้นได้หมด ตนเคยคุยกับนักวิชาการต่างชาติว่า อายุรัฐบาลอยู่ได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง หากไม่ใช่รัฐบาลเกิดจากการเผด็จการ และตอนนี้อยู่ในห้วงเวลาที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งคิดว่า ทุกพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับประชาชนก็พร้อมที่จะเลือกตั้ง เพราะอุบัติเหตุทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้.-315 .-สำนักข่าวไทย