รัฐสภา 17 ต.ค. – สส. เห็นต่าง 2 ฝั่ง ปมนิรโทษกรรม ม.112 “ปชน.” บอกต้องมีวุฒิภาวะ อย่าขวางนิรโทษกรรม มองปิดประตูใส่ลูกหลาน ด้าน “ภท.” ลุกประกาศไม่เป็นมิตร-ไม่ร่วมพิจารณา ม.112
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ซึ่ง กมธ. ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. พิจารณาเสร็จแล้วนั้น สมาชิกอภิปรายสนับสนุนพร้อมกับแสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นการนิรโทษกรรม คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยในการอภิปรายของ สส.พรรคฝ่ายค้าน ที่มีพรรคประชาชนเป็นแกนนำ สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรม รวมถึงคดีมาตรา 112 ด้วย อาทิ นายวีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น พรรคประชาชน อภิปรายว่า ในประเด็นของมาตรา 112 ที่ กมธ. วางแนวทางให้เป็นคดีอ่อนไหวทางการเมือง เชื่อว่าจะเป็นการตีกรอบการนิรโทษกรรมที่คับแคบเกินไป ทั้งที่ควรเปิดกว้าง เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลคือกีดกันคดีดังกล่าวออกจากการนิรโทษกรรม อย่างไรก็ดี หากต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีต้องมัดรวมการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วย
นายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง สส.อยุธยา พรรคประชาชน กล่าวว่า รายงานของ กมธ. ที่แสดงความเห็นต่อคดีมาตรา 112 แบบไม่ชัดเจนจะทำให้ผู้ที่ต้องคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกกลั่นแกล้ง หรือแจ้งความเกินกว่าเหตุจะเคว้งทันที ซึ่งกรณีไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา112 จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดตามจำเป็น เท่ากับปิดประตูไม่ให้ลูกหลานเข้าบ้าน ดังนั้น ควรเปิดใจและคุยแบบมีวุฒิภาวะ
นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน เห็นว่าหากไม่มีการนิรโทษกรรมที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองทุกคดี ซึ่งรวมถึง 112 ด้วย ประชาชนจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และประชาธิปไตยของประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไป เหมือนเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กลับมาประทุอีกครั้ง เพราะประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม
นายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน สนับสนุนรายงานการนิรโทษกรรมฉบับนี้ พร้อมเห็นว่าควรมีการนิรโทษกรรม ไม่ว่าคดีหลัก คดีรอง หรือคดีอ่อนไหวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ซึ่งมีแรงจูงใจและถูกใส่ร้ายกลั่นแกล้ง โดยย้ำว่าการนิรโทษกรรม มาตรา 112 ไม่ใช่การยกเลิกกฎหมาย
ขณะที่การอภิปรายของ สส.ฝั่งรัฐบาล มีความชัดเจนว่าการนิรโทษกรรมไม่ควรรวมคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง หรือมาตรา 112 โดยนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าสำหรับการนิรโทษกรรม มาตรา 112 รายงานดังกล่าวมีข้อสรุป แต่ไม่สรุป และระบุแนวทางเป็น 3 แนวทาง คือ ไม่นิรโทษกรรม ให้นิรโทษกรรม และนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข ทั้งนี้ ความเห็นส่วนตัวมองในประเด็นดังกล่าวว่าสังคมมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ยังมีเวลาที่จะหาฉันทามติ ตนไม่เห็นด้วยกับการรวมมาตรา 110 และมาตรา112
นายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยไม่มีทางยอมให้มีการนิรโทษกรรม ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งนี้ไม่มีใครได้รับผลกระทบจากสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลปลูกฝังให้คนเห็นต่าง เห็นความไม่สำคัญต่อสถาบัน ซึ่งตนไม่เห็นด้วย หากรายงานฉบับนี้ผ่านไปถึง ครม. และต้องร่างกฎหมาย หากอ้างว่าเป็นมติของสภาฯ ที่เห็นชอบรายงานศึกษาจะให้นิรโทษกรรม การกระทำล่วงละเมิดสถาบัน ทั้งมาตรา 110 หรือมาตรา 112 ตนยืนยันต่อประชาชนว่าคนของภูมิใจไทย ไม่เป็นมิตรและไม่ยินยอมกับการกระทำ ยืนยันเจตนารมณ์ว่าจะจงรักภักดีและปกป้องสถาบันให้ถึงที่สุด
ขณะที่ นางนันทนา สงฆ์ประชา สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจ กล่าวว่าการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ชัดเจน พรรคภูมิใจไทยพร้อมร่วมพิจารณา แต่จะไม่ร่วมพิจารณามาตราหรือรายงานฉบับนี้ทุกกรณีหากมีมาตรา 112
“เรามีจุดยืนไม่แตะต้องและปกป้องมาตรา 112 ด้วยชีวิต พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยจะแตะต้องมาตรา 112 และจะไม่พิจารณาเด็ดขาดกับคนที่ทำผิดมาตรา 112 เพราะไม่ใช่ความผิดทางการเมือง” นางนันทนา กล่าว.-319-สำนักข่าวไทย