รัฐสภา 18 ก.ย.-“พริษฐ์” ย้ำพรรคประชาชน ชงร่างแก้ รธน. รื้อมาตรฐานจริยธรรม ลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ คาดรัฐสภาพิจารณา 25 ก.ย.นี้ เล็งยื่นต่อแก้ พ.ร.ป.ศาล รธน.-พรรคการเมือง แก้ปมยุบพรรค วอนรัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ ไม่ฟันธงมี รธน.ใหม่ทันเลือกตั้งหน้า
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคประชาชนจะเดินในเส้นทางคู่ขนาน คือเร่งรัดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีความชอบธรรมตามประชาธิปไตยมากที่สุดและการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่เห็นว่ามีความสำคัญและมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งได้มีหมวดหมู่ที่เราได้ยื่นไปแล้ว และคาดว่าจะมีการพิจารณาในวันที่ 25 กันยายนนี้ ในที่ประชุมรัฐสภาคือ การลบล้างผลพวงรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การยกเลิกมาตรา 279 ที่คาบเกี่ยวกับการประกาศคำสั่ง คสช. รวมถึงการเพิ่มหมวดในการป้องกันรัฐประหาร ขณะที่อีกหมวดหมู่ที่กำลังเตรียมการ คือเรื่องการทบทวนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งจะมีอำนาจสองอย่างด้วยกันที่จะให้ทบทวนแก้ไข คือ อำนาจของการยุบพรรค คือการยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อทำให้สถาบันการเมืองยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีร่างฉบับกลางหนึ่งฉบับที่จะเซ็นร่วมกันในคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองที่มีการทำงานร่วมกันมาจากหลายพรรคและแต่ละพรรคก็จะมีการยื่นร่างประกบ รวมถึงร่างของพรรคประชาชนด้วยเช่นกัน ส่วนอำนาจที่สองที่เสนอให้มีการทบทวนคือ เรื่องอำนาจมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งเป็นอำนาจใหม่ที่เพิ่มเติมมาในรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเห็นว่าการนำเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมมาบรรจุเป็นกฎหมายอาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะว่าเรื่องของจริยธรรมเป็นเรื่องของที่ต่างคนต่างนิยาม และเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมสูง แต่ในวิธีการของรัฐธรรมนูญปี 60 เรียกว่าเป็นการผูกขาดการนิยามและการตีความส่วนใหญ่ ไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ คือให้ศาลรัฐธรรมนูญนิยามว่ามาตรฐานทางจริยธรรมคืออะไร เขียนขึ้นมาและบังคับใช้กับทุกองค์กร ท้ายที่สุดแล้วมีการยื่นเรื่องให้วินิจฉัยองค์กรหลัก ที่จะวินิจฉัย ก็คือกลับมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาคือการเอาเรื่องที่เป็น นามธรรมไปใส่ในตัวบทกฎหมายและให้อำนาจกับองค์กรกลุ่มเดียวในการนิยาม และมีบทบาทหลักในการตีความวินิจฉัย สิ่งที่เราต้องการจะเห็นคือการปรับปรุงของการกำกับเรื่องจริยธรรม อย่างแรก มองว่าเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สิ่งสำคัญคือความรับผิดรับชอบ ทางการเมืองทำอย่างไรให้ระบบการเมืองมีความเข้มแข็งในการตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง เช่นหากมีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่สังคมมองว่าไม่เหมาะสมมาเป็นรัฐมนตรี จะทำอย่างไรให้ท้ายสุดแล้วผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกระแสสังคม อย่างที่สองคือการปรับปรุงกลไกจริยธรรมในองค์กรของตัวเอง ในเมื่อเราไม่ได้ผูกขาดให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดจริยธรรมของทุกองค์กร จะทำอย่างไรให้ทุกองค์กรปรับปรุงจริยธรรมของตนเองให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
”เราไม่ได้บอกว่าเราไม่ให้ความสำคัญในเรื่องจริยธรรม แต่มองว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ควรที่จะเอาเรื่องที่เป็นนามธรรมในลักษณะนี้ไปใส่ในตัวบทกฏหมายในรัฐธรรมนูญ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระผูกขาดการนิยามและมีบทบาทหลักในการตีความวินิจฉัย แต่ควรจะทำให้ในแต่ละองค์กรมีมาตรฐานจริยธรรมของตนเอง ที่กำกับบังคับใช้ในองค์กรของตัวเองและท้ายสุดคือพัฒนาระบบการเมืองให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้เรื่องจริยธรรมนักการเมืองเป็นสิ่งที่ต้องมีการรับผิดรับรับผิดชอบกันในทางการเมือง“ นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ เชื่อว่า หลายฝ่ายเห็นปัญหาคล้ายกัน แต่แนวทางการแก้ไขอาจจะแตกต่างกันบ้างตามกระบวนการท้ายสุด ถ้าทุกพรรคต่างยื่นร่างของตัวเอง ก็จะไปจบในการพิจารณาร่วมกันในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งต้องรอดูว่าจะเป็นในวันที่ 25 กันยายนนี้เลยหรือไม่ แต่ตนคิดว่าถ้าในภาพรวมเห็นปัญหาตรงกัน แต่ต่างกันที่รายละเอียดการแก้ไข ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะรับหลักการไปและถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการ เพื่อให้มีการรัดกุมรอบคอบมากขึ้น
ส่วนจุดยืนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพรรคประชาชนนั้น ที่ทางรัฐบาลยังยึดกับมติเดิมคือจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และหมวด2 นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นจุดยืนที่รัฐบาลพูดมาโดยตลอดแม้ว่าในรอบนี้ในคำแถลงนโยบายอาจจะไม่ได้เขียนชัดเหมือนกับในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งจุดยืนของพรรคประชาชนยังคงเหมือนเดิมคือ ยังเห็นต่างกับรัฐบาลในเรื่องนี้ และมองว่าท้ายสุดการจัดทำแล้วรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่ ข้อสังเกตที่ผ่านมา จะเห็นว่าไม่เคยมีครั้งไหนที่มีการยกเว้นการปรับปรุงในหมวดใดหมวดหนึ่ง แต่ได้มีการวางกรอบที่ชัดเจนไว้เท่านั้น ว่าจะไม่มีการแก้ไขการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และรูปแบบรัฐ ซึ่งคิดว่าเงื่อนไขแบบนั้นก็รัดกุมพอควรแล้ว และในอดีตก็จะเห็นว่า ทุกครั้งที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่ ก็จะมีการปรับปรุงข้อความในหมวด 1 และหมวด 2 มาโดยตลอดและไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองและรูปแบบรัฐแต่อย่างใด รวมถึงการกำหนดคำถามในการจัดการออกเสียงประชามติ ซึ่งพรรคประชาชนให้ความสำคัญ และควรถามคำถามเปิดกว้าง ไม่นำเงื่อนไขการห้ามแตะเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งเป็นคำถาม 2 ชั้นกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะประชาชนอาจเห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม และอาจทำให้โอกาสประชามติผ่านความเห็นชอบลดน้อยลงจากเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ เพราะรัฐบาลมีสิทธิในฐานะเสียงข้างมากในสภา เพื่อกำจัดอำนาจ สสร.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะหมวด 1 และ 2 ได้อยู่แล้ว
นายพริษฐ์ ยังยอมรับว่า ยังคงมีความกังวลใจกับการจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่สามารถฟันธงได้ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแล้วเสร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ เพราะจะต้องอาศัยเวลา และโรดแม็ปของรัฐบาลในการจัดการออกเสียงประชามติถึง 3 ครั้ง ซึ่งหากรัฐบาลไม่วางแผนอย่างรอบคอบ ก็อาจจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใช้ทันในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ได้
นายพริษฐ์ ระบุว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ยังไม่ได้รับสัญญาณใด ๆ จาก สว.และจะต้องมีการพูดคุยกันต่อไป
นายพริษฐ์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังเปิดเผยว่า กรรมาธิการฯ ได้เตรียมเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรค และการจัดตั้งพรรคการเมือง สามารถทำได้ง่ายขึ้น ระดมทุนได้ง่ายขึ้น และทบทวนเงื่อนไขการยุบพรรค.-315.-สำนักข่าวไทย