ทำเนียบ 17 ก.ย.-“อนุทิน” รมว.มหาดไทย ยันมีระบบแจ้งเตือนภัย ทั้ง “ดิจิทัล-อนาล็อก” ย้ำเยียวยาเป็นไปตามกรอบ ไม่ใช่ชำระความเสียหาย “ทุกบาท ทุกสตางค์”
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดพะเยา ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้รายงานสถานการณ์มาให้ตนทราบแล้ว ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์น้ำได้ ส่วนความเสียหายต่างๆ ก็คอยดูแลอยู่ ซึ่งสถานการณ์ถึงขั้นประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติ และขณะนี้น้ำค่อยๆ ลดลงแล้ว
สำหรับในวันนี้ (17 ก.ย.) สิ่งที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คือ การรวบรวมข้อมูลและเสนอนายกรัฐมนตรีให้ทราบ สำหรับการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มเมื่อวานที่ผ่านมา ซึ่งรวมไปถึงจะนำเรื่องของการเยียวยา ชดใช้ค่าเสียหายเข้าที่ประชุมในวันนี้ด้วย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามหลักเกณฑ์ รวมไปถึงการลดค่าน้ำค่าไฟในเดือนกันยายน และตุลาคม พร้อมกับย้ำว่า เรื่องของการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือน ก็มีหลักเกณฑ์ดูแลอยู่แล้ว ซึ่งการเยียวยาไม่ใช่สำรวจว่า จะต้องได้ทุกบาททุกสตางค์ เพราะเป็นการเยียวยา ไม่ใช่ชำระค่าความเสียหาย
ส่วนระบบการป้องกัน และเตือนภัย เนื่องจากชาวบ้านจังหวัดพะเยามีการสะท้อนมาว่าไม่รู้ตัวมาก่อน นายอนุทิน ยืนยันว่า มีการเตือนภัยทุกรูปแบบ ทั้งอนาล็อก และดิจิทัล ซึ่งก็พยามทำอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า กรณีของน้ำป่าไหลหลากจะสามารถเตือนภัยได้หรือไม่ นายอนุทิน ระบุว่า ช่วงนี้เรามีการเตรียมความพร้อมการเตือนภัยอยู่ตลอด เช่น หากอยู่ในพื้นที่ ต้องขนย้ายสิ่งของที่จำเป็นไปอยู่ที่ชั้นสอง หรือบางส่วนก็มีการอพยพออกมาเหมือนดังเช่นจังหวัดหนองคาย พร้อมย้ำว่าด้วยวิถีชีวิตไม่มีใครอยากทิ้งบ้านเรือน ดังนั้นหากใครยังอยู่ภายในบ้าน เรามีการจัดเจ้าหน้าที่เพื่อไปดูแลในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย และดูแลทรัพย์สิน
ส่วนการแจ้งการเตือนภัย นอกจากจะมีการประกาศตามเสียงตามสายแล้ว จะมีวิธีการอื่นหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูที่หน้างาน เพราะบางพื้นที่ต้องใช้ปาก และใช้คนช่วยไปการสื่อสาร เช่น ลุง ป้า ที่อยู่ในชนบท เพราะบางทีไม่ได้มีการดูหน้าจอโทรศัพท์ตลอดเวลา
ขณะในพื้นที่ในเมืองที่เข้าถึงสมาร์ทโฟน ก็ต้องมีการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ทั้ง Line และ SMS แต่ย้ำว่าในพื้นที่ต่างจังหวัด วิธีการที่ดีที่สุด และได้ผลที่สุด คือการเอาคนเข้าไปเพื่อเตือนภัย
นายอนุทิน ยังพูดถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ที่อีกประมาณ 3 วัน น้ำจะไหลจากหนองคายไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งยืนยันว่าเรื่องการบรรเทา เยียวยาไม่มีอะไรน่ากังวล แต่เรื่องการป้องกัน ภาระอยู่ที่ สทนช. เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ ปภ. ทำได้เพียงแค่บรรเทา เพราะงบป้องกันได้ และถูกตัดหมด ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยทำได้เพียงการเยียวยา และดูแล.-316.-สำนักข่าวไทย