“จุลพันธ์” ย้ำ จัดงบฯ 68 อยู่ในกรอบวินัยการเงิน-การคลัง

รัฐสภา 3 ก.ย.- “จุลพันธ์” ย้ำ จัดงบฯ 68 อยู่ในกรอบวินัยการเงิน-การคลัง บอก ที่ปรับลดไม่กระทบเนื้องาน ยัน ใช้งบอย่างรัดกุมไม่ให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต ด้าน “ณัฐพงษ์” ชงปฏิรูประบบภาษี ถามรัฐบาลหาวิธีลดรายจ่ายประจำ กังวลกู้เพื่อกระตุ้น ศก.ระยะสั้น เกิดวัฏจักรขาลง ไม่สร้างอนาคตให้ประเทศ


ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยขณะนี้ คือการจัดเก็บรายได้ จัดเก็บภาษีต่อจีดีพี จาก 16 เปอร์เซ็นต์เหลือ 14 เปอร์เซ็นต์ และดูเหมือนจะจัดเก็บภาษีจากคนจนมากกว่าเก็บคนรวย อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงว่าการกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น จะทำให้เกิดวัฏจักรขาลง เพราะขาดพื้นที่การคลังระยะยาว ไม่สามารถสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมในอนาคต ทำให้ในอนาคตรัฐเก็บภาษีได้น้อยลงไปอีก

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนวิธีการแก้ไขก็ต้องปฏิรูประบบภาษีและระบบงบประมาณ ต้องตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้รัฐจัดเก็บภาษีเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพี ลดความเหลื่อมล้ำ พูดง่ายๆคือพุ่งเป้าเก็บคน 1 เปอร์เซ็นต์ในส่วนที่เหมาะสม เพื่อกระจายทำสวัสดิการให้ประชาชน พัฒนาต้นทุนมนุษย์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างระยะยาวให้ประเทศเป็นวัฏจักรขาขึ้น


“สิ่งที่พวกเราต้องตั้งคำถามไปถึงรัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้า นอกจากข้อเสนอปฏิรูประบบภาษี อยากเห็นการลดรายจ่ายประจำ จะทำอย่างไรให้พวกเรามั่นใจว่า ไม่ใช่กู้เพื่อแจกเพียงอย่างเดียว แต่กู้เพื่ออัปสกิล พัฒนาต้นทุนมนุษย์ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมขออนุญาตไม่เห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก และขอปรับลดกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่กู้จนชนเพดาน ไม่สร้างอนาคตตให้กับประเทศ” หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า การพิจารณาของกมธ.งบประมาณฯ มีการตั้งอนุกมธ.ฯ เพื่อพิจารณารายละเอียดในเนื้องานและดูการปรับลดที่เหมาะสม รวมถึงมีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งการปรับลดส่วนมากจะไม่กระทบต่อเนื้องานและผลิตผลของสิ่งที่หน่วยงานหรือหน่วยรับงบประมาณมีหน้าที่ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นการปรับลดตามสัดส่วนที่จะไม่กระทบต่องานและสามารถสัมฤทธิ์ผลได้ตามที่วางเป้าหมายไว้ได้ เป็นการรีดไขมัน และยืนยันการปรับลดที่เกิดขึ้น

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า การที่ต้องตั้งประมาณการและเป็นสมมติฐานสำหรับการที่ต้องเดินหน้าในเรื่องของงบประมาณปี 2568 โดยข้อห่วงใยที่มีในตัวเลขการจัดเก็บ เป็นข้อห่วงใยที่เรารับฟัง อย่างไรก็ตาม กลไกทางด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐไม่ได้มีปีกเดียว ซึ่งในปี 2567 ที่ได้มีการยกตัวอย่าง มีความเป็นห่วงโดยเฉพาะเรื่องภาษีสรรพสามิต ที่มีการจัดเก็บพลาดเป้าเกิดจากการที่รัฐบาลตัดสินใจช่วยพี่น้องประชาชน ในเรื่องของการลดราคาพลังงานในประเภทต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดในเรื่องของรายได้ลงไปเพื่อไปแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ยืนยันว่ากระทรวงการคลัง สามารถบริหารจัดการการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมผ่านทั้งรัฐวิสาหกิจ รวมถึงกรมจัดเก็บได้หลายวิธีการ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี การใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐ ผ่านการกระตุ้นการท่องเที่ยว ผ่านการลงทุนของบีโอไอ สามารถทำให้เกิดการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 ที่ผ่านมา


นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังยืนยันว่าการจัดเก็บรายได้ในปลายปีงบประมาณ 2567 อยู่ในกรอบน่าจะตามเป้า หากจะผิดพลาดบวกลบไม่ได้อยู่ในจุดที่มีนัยยะสำคัญหรือไม่เป็นตัวเลขหลักหมื่นล้าน ที่ท่านเป็นห่วง และไม่กระทบกับการจัดเก็บรายได้ในปี 2568 ด้วยเช่นกัน ฉะนั้น การดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในงบฯปี 68 ก็จะทำให้รัฐบาลสามารถเพิ่มการจัดเก็บรายได้ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็จะเพิ่มความสามารถของรัฐบาลในการมาชำระหนี้สินในอนาคต ลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่อไป และยืนยันว่าการประมาณการที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าสถานการณ์ในช่วงของการตั้งงบประมาณ ก่อนวันที่เรารับหลักการในวาระ 1 มาจนถึงวันนี้ อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง แต่อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐรองรับได้

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า แน่นอนว่าประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเรื่องของปัญหาการฟื้นตัวที่ช้ากว่าการคาดการณ์ ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนก็อยู่ในระดับที่สูง รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุน การฟื้นตัวและส่งเสริมอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้กลับมาเร่งตัวขึ้นได้มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา และเราต้องการสร้างให้การเติบโตของประเทศไทย อยู่ในระดับที่สามารถทัดเทียมและแข่งขันได้กับประเทศอื่นในภูมิภาค เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นก็จะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มมากขึ้นและจะช่วยลดสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ให้ลดลงและจะทำให้จีดีพี เพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นส่วนช่วยในการลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้มีความเหมาะสม และยืนยันในกรอบการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้อยู่ในกรอบวินัยทางการเงินและการคลังทุกประการ

“ผมเข้าใจว่าท่านกรรมาธิการและท่านสมาชิกอาจมีความห่วงใยในเรื่องของการที่มีการขาดดุลเพิ่มเติมสูงกว่าปกติในปีนี้แต่อย่างไรก็ตามข้อห่วงใยของท่านเรารับฟัง และทั้งหมดอยู่ในกรอบวินัยทางการเงินและการคลัง หากจะยกข้อห่วงใยว่าการดำเนินการของรัฐบาลที่ท่านยกว่ามีความเสี่ยง ผมขอเรียนด้วยความเคารพ หากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ วันนี้เราบอกว่าเราให้มีการปรับลดงบประมาณปี 68 ลง 2 แสนล้านบาท อย่างที่ท่านสมาชิกได้มีการเสนอความเห็นไว้ หากเราปรับลดลง การขาดดุลน้อยลง ท่านบอกว่ามีพื้นที่ทางการคลังมากขึ้น ก็ไม่ได้ยืนยันว่าประเทศไทยจะพ้นกับความเสี่ยงใดๆ เพราะความเสี่ยงในรูปแบบอื่นก็ยังเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน นั่นคือความเสี่ยงที่ประชาชนจะไม่ได้รับบริการการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการช่วยเหลือในภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ในอนาคตเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ทุกรูปแบบของการดำเนินการหากจะยกเรื่องความเสี่ยงขึ้นมา ผมขอตอบว่ามีความเสี่ยงในทุกรูปแบบ แต่ความห่วงใยของท่านเรารับไว้ และด้วยความห่วงใยที่ท่านมี รวมถึงความเข้าใจในเรื่องของกลไกทางงบประมาณ กลไกในเรื่องของการคลัง เรายืนยันว่าจะดำเนินการด้วยความรัดกุมและใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าไม่ให้ความเสี่ยงที่ท่านเป็นห่วงเกิดขึ้นได้ในอนาคต” นายจุลพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ที่ประชุมสภาฯ เห็นด้วยกับมาตรา 4 ภาพรวมงบประมาณทั้งหมดตามคณะกมธ. ด้วยคะแนน 266 ต่อ147 งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียงไม่มี .312 – 319.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ผ่าไชน่า เรลเวย์ คว้า 3 โครงการรัฐในภูเก็ต

เหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม กลายเป็นปฐมบทในการปูพรมตรวจสอบบริษัท ไชน่า เรลเวย์ หลังพบเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการก่อสร้างตึก สตง. และโครงการรัฐหลายแห่งทั่วประเทศ ล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต ตรวจพบ 3 โครงการ และหนึ่งในนั้นกำลังมีปัญหาก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน

มหาสงครามโลก

นักวิชาการชี้ “มหาสงครามโลกครั้งที่ 3” เกิดแน่ถ้าโลกยังตึงเครียด

นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศระดับแนวหน้าของไทย มีความเห็นตรงกันว่า หากผู้นำชาติมหาอำนาจไม่เร่งลดระดับความตึงเครียดสถานการณ์โลก

กู้ภัยนานาชาติ เครือข่าย USAR ถอนกำลังแล้ว

กู้ภัยนานาชาติ เครือข่าย USAR ถอนกำลังแล้ว หลังอยู่ปฏิบัติภารกิจค้นหา-กู้ชีพ สนับสนุนกู้ภัยไทย เหตุตึก สตง.ถล่ม กว่า 1 สัปดาห์

ธรรมชาติใต้ดินเปลี่ยนไป หลังแผ่นดินไหว 1 สัปดาห์

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ แม้บนพื้นผิวดินจะไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก แต่พบความเปลี่ยนแปลงสภาพใต้ดินจนเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งหลุมยุบขนาดใหญ่ น้ำพุร้อนที่เคยพุ่งจากใต้ดินหายไป แต่น้ำตกที่แห้งในหน้าแล้งกลับมีน้ำไหลออกมา ซึ่งนักธรณีวิทยายืนยันเป็นผลพวงจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

ข่าวแนะนำ

รถบัสรับส่งพนักงานพุ่งตกคูน้ำ เจ็บ 21

รถบัสรับส่งพนักงานพุ่งตกคูน้ำ ถนนสายเอเชีย ขาขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา มีผู้บาดเจ็บ 21 คน คาดคนขับหลับใน เบื้องต้นยังไม่พบตัว

เน้นเครื่องจักรหนักเข้าถึงโซน B, C คาดมีผู้ติดค้างจำนวนมาก

ฝนตกหนักช่วงเช้า เพิ่มอุปสรรคค้นหาผู้ประสบภัย และการรื้อซากอาคาร สตง.ถล่ม เจ้าหน้าที่ทุกส่วนต้องหยุดปฏิบัติภารกิจชั่วคราว วันนี้ยังเน้นใช้เครื่องจักรหนักเข้าถึงโซน B และโซน C ที่มีลักษณะคล้ายร่างกายมนุษย์ติดอยู่ในซาก ด้านทีม K9 ประกาศยุติภารกิจค้นหาผู้สูญหาย