สำนักงาน ป.ป.ช.- นยปส. 15 จัดเวทีสัมมนาสาธารณะ นวัตกรรมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไทยไม่โกงฯ “ภูมิธรรม” ชี้ หัวใจสำคัญ ต้องทำให้เกิดค่านิยมใหม่ ขณะที่ “วิษณุ” บอกการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ เป็นภัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโครงการนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 15 จัดการสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “นวัตกรรมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไทยไม่โกงในยุค Digital Disruption” ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงาน นายวิษณุเครืองามที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีบรรยายพิเศษ มีการเดินขบวนร่วมขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด วีดีทัศน์จากภาคประชาชนและการแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการปราบปรามทุจริตในยุคดิจิทัล
นายภูมิธรรม กล่าวระหว่างเปิดงานว่า ดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ Corruption Perception Index: CPI ของไทยยังตกต่ำ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อยู่ในลำดับ 108 จาก 180 ประเทศ สะท้อนว่า ปัญหาทุจริตในสังคมไทยทุกคนทราบ แต่แก้ไขไม่ได้ จนเป็นปัญหาสะสมในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นปัญหาสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศมาก รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในยุค Digital Disruption ที่จะเห็นการทุจริตที่สลับซับซ้อน จนยากที่จะแก้ไขมากขึ้น ทำให้ต้องมีการค้นคว้าอย่างจริงจังว่า จะร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องอย่างไร และเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนจะต้องหาช่องทางแก้ไขให้มากขึ้น
นายภูมิธรรม เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชันขณะนี้ หัวใจสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดค่านิยมใหม่ที่นักการเมือง ข้าราชการ เอกชน และประชาชนต้องเข้าใจ และร่วมมือกัน เพราะหากไม่สามารถเปลี่ยนค่านิยมได้ ปัญหาการคอร์รัปชัน ก็จะแก้ไขยาก และหากยิ่งไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติ ก็จะยิ่งยาก และยิ่งหยั่งลึกลงในสังคมไทย จนเป็นอันตรายต่อสังคม ดังนั้น จึงจะต้องสร้างสำนึกคนไทยให้ได้ เพื่อให้การแก้ไขการทุจริตให้สำเร็จ รวมถึงจะต้องเรียนรู้เท่าทันปัญหา เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยความรู้สึก แต่จะต้องหาความรู้ และใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่โลกเปลี่ยนแปลงไปมาแก้ปัญหา และดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ด้านนายวิษณุ เครืองาม บรรยายพิเศษเรื่องการป้องกันการทุจริตภาครัฐยุค Digital Disruption ว่า การทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐ ถือเป็นภัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้การดำเนินการหลายอย่างไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดขึ้น โดยปัจจุบันการทุจริตเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อนมีเพิ่มมากขึ้น การยักยอกทรัพย์ การเรียกรับทรัพย์เพื่อการคุ้มครองและอำนวยความสะดวกมีมากขึ้น ซึ่งสังคมไทยชินกับการเรียกรับการให้มาแต่โบราณ และเป็นการทำโดยถูกกฎหมายต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ยกเลิกระบบภาษีนายอากรและให้นำส่งเข้าคลังทั้งหมด อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ซึ่งได้มีการจัดตั้งศาลคดีทุจริตขึ้นเป็นการเฉพาะ ที่ตลิ่งชัน เพราะคดีทุจริตประพฤติมิชอบต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะของเจ้าหน้าที่และผู้พิพากษาเพื่อให้รู้เท่าทันคดีทุจริต โดยนำคดีอาญามาตรา 157 การประพฤติมิชอบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐมาขึ้นกับศาลนี้ด้วย เพราะบางครั้งไม่ใช่คดีคอรัปชั่นแต่เป็นคดีประพฤติมิชอบบางอย่าง เช่น ขาดงานขาดราชการ การปล่อยปะละเลยต่อหน้าที่จนทำให้เกิดการทุจริต
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นหนึ่งในหลักนิติธรรม เพราะการทุจริตประพฤติมิชอบเป็นหลักในการบริหารราชการที่ดี เปิดเผยและโปร่งใส ทั้งนี้ การป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นหลักสำคัญในการบริหารประเทศและไม่สามารถละเลยได้ วิธีการแก้ปัญหาไม่มีนวัตกรรมใหม่ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนกรอบความคิดและต้องยึดมั่นตามกรอบกฏหมาย และที่สำคัญ คือ ความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งหากมีสิ่งเหล่านี้ก็เพียงพอในการแก้ปัญหาแล้ว ปัจจุบันการแก้ปัญหาทุจริตมักถูกมองข้ามว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ แต่ลืมนึกว่าประชาชนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบที่ได้ผลดีที่สุด พร้อมย้ำ ที่จริงแล้วได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการอนุญาตอนุมัติของทางราชการ ไว้นานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรได้เพราะหลายกระทรวงคัดค้าน เนื่องจากหากออกมาจะทำให้ปิดช่องทางการทุจริตหลายช่องทางได้ และจนที่สุดปี 2558 เมื่อ คสช. เข้ามาได้ผลักดันกฎหมายนี้ให้เกิดขึ้นได้ และทราบว่าจะมีการปรับกฎหมายนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น โดยกฎหมายฉบับใหม่ จะเปลี่ยนเอาระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้มากขึ้น เชื่อว่ากฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ปัญหาการทุจริตลดน้อยลงได้ เพราะลดการเผชิญหน้าระหว่างข้าราชการและประชาชนก็จะทำให้การเลือกรับเงินลดน้อยลงไป รวมถึงประชาชนต้องเป็นหูเป็นตาด้วย.-319 -สำนักข่าวไทย