รัฐสภา 17 ก.ค.-“วรภพ” สส.ก้าวไกล เชื่อดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงการกู้เงินครั้งใหญ่ ห่วงเงื่อนไขการเข้าร่วมร้านค้าขนาดเล็ก จะกลายเป็นการกีดกันเข้าร่วมโครงการ แถมร้านสะดวกซื้อกลับได้ประโยชน์
นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวนไม่เกิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต มองว่า ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เป็นเพียงโครงการกู้เงินครั้งใหญ่และทิ้งหนี้ไว้ให้กับประชาชน แต่จะเปลี่ยนเป็นพายุหมุนเข้าห้างร้านขนาดใหญ่แทน และที่แย่ที่สุด คือ การกีดกันร้านค้ารายย่อยในการร่วมโครงการ โดยเฉพาะเงื่อนไขห้ามร้านค้าแลกเป็นเงินสุดในการรับเงินดิจิทัล
นายวรภพ กล่าวว่า ถ้าเป้าหมายของการแจกเงิน คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ เงื่อนไขของมาตรการนี้ต้องทำให้เกิดการกระจายรายได้สูงสุด เกิดการหมุนเหวียนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยให้มากที่สุด แต่เมื่อดูเงื่อนไขของโครงการนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น
นายวรภพ กล่าวว่า เงื่อนไขของโครงการออกแบบกีดกันร้านค้ารายย่อย ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางที่สายป่านไม่ยาวพอ เนื่องจากร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะถอนเป็นเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบ 2 เป็นต้นไป ซึ่งร้านค้าจะหาเงินจากไหนมาหมุนจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ใช้เงินดิจิทัลไปจ่ายต่อไม่ได้
“การตั้งเงื่อนไขร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลมาแล้วแลกเป็นเงินสดไม่ได้ คือการกีดกันร้านค้ารายย่อยออกจากโครงการเงินดิจิทัลเอง…ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า คนที่คิดนโยบายไม่เคยเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ต้องหมุนเงิน ถึงคิดเงื่อนประหลาดโลกขึ้นมา ที่มีประเทศไหนเขาคิดกัน” นายวรภพ กล่าว
นายวรภพ ตั้งข้อสังเกตว่า เงื่อนไขที่ให้ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ตั้งแต่รอบแรก ทำไมถึงรวมร้านสะดวกซื้อไว้ด้วย หรือเป็นเพราะรัฐบาลกังวลว่า จะไม่มีร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วมในโครงการนี้หรือไม่ จึงเปิดช่องให้ร้านสะดวกซื้อจึงเป็นร้านค้าขนาดเล็กด้วย
นอกจากนี้ ร้านค้ารายย่อยที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ทำไมโครงการดิจิทัล กลับมาตั้งเงื่อนไขที่กีดกันร้านค้ารายย่อยที่ทำถูกกฏหมายออกไป ตั้งเงื่อนไขที่ต่างกับร้านค้ารายใหญ่ ที่รับเงินดิจิทัลจากรายย่อยมาก็สามารถแลกเป็นเงินสดได้ทันที หากร้านค้ารายย่อยถูกกีดกันออกจากซัพพลายเชน จากห่วงโซ่เศรษฐกิจมากเท่าไร จะกลายเป็นการสูบเงินจากซัพพลายเชนรายย่อยด้วยกัน กลับเข้าสู่ห้างร้านเจ้าสัวทั้งหมด
“ผมคิดว่า เป็นเงื่อนไขที่เลือดเย็นมาก ที่ต้องการเปลี่ยนมูลค่าเศรษฐกิจไปกระจุกกองที่ห้างร้านเจ้าสัวอย่างเป็นระบบ อยากให้นึกตามง่ายๆ จากเดิมจะซื้อลูกชิ้นหน้าปากซอย แต่ถ้ารถเข็นลูกชิ้นไม่รับเงินดิจิทัล คนก็ไปซื้อร้านสะดวกซื้อแทน แถมรายได้เดิมเขาก็จะหายไปด้วย” นายวรภพ กล่าว.-315.-สำนักข่าวไทย