รัฐสภา 4 ก.ค.- “ทวี” แจงกระทู้สภาฯ กรณี “บุ้ง” เสียชีวิต ไม่มีร่องรอยถูกทำร้าย ขอทุกฝ่ายเชื่อมั่นในศาล-กระบวนการไต่สวน ยันปี 67 สถิติตายในคุก 2% ยังน้อยกว่าภายนอก ตาย 7.9 % เผยนักโทษการเมือง-ม.112 ยอดลดเหลือแค่ 25 คน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (4ก.ค.) นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ถามกระทู้สดด้วยวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรื่องความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำที่ระยะเวลาผ่านไปกว่า 2 เดือน การเสียชีวิต นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมการเมือง ที่คลุมเครือ จากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ดังนั้นจึงถามว่า สิ่งที่ราชทัณฑ์แถลงสาเหตุการเสียชีวิต เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ สาเหตุที่แท้จริง คืออะไร รวมถึงกระบวนการกู้ชีพ และกรมราชทัณฑ์จะรับผิดชอบอย่างไร
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงว่า การเสียชีวิตของบุ้ง ในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน เป็นเงื่อนไขหนึ่ง ที่ต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งมีแพทย์ที่เป็นของราชทัณฑ์ และเปิดโอกาสให้ญาติ ทนายความ เข้าร่วมตลอดกระบวนการ แม้แต่ในชั้นการพิจารณาของศาล ยังสามารถเพิ่มพยานไปได้ โดยสาเหตุการตาย จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เกิดจากการเสียสมดุลเกลือแร่ในเลือด ร่วมกับโรคหัวใจโต กรณีนี้ทางกรมราชทัณฑ์ ได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ขณะนี้ขยายเวลาไป 30 วัน อยากจะให้เชื่อมั่น ซึ่งคณะกรรมการ มีความเห็นว่า เป็นการเสียชีวิตตามธรรมชาติ โดยมีสาเหตุจากการเสียสมดุลเกลือแร่ในเลือด และโรคหัวใจโต ไม่ปรากฏร่องรอยการถูกทำร้ายแต่อย่างใด ประกอบกับกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุพบว่าผู้เสียชีวิตได้นอนหลับพักผ่อนเป็นปกติ และในวันเกิดเหตุ 06.12 น. ได้ลุกขึ้นมานั่งที่เตียงผู้ป่วย และเริ่มคว่ำหน้าลง ชักกระตุก รายงานระบุชัดว่า เสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จึงอยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในศาล ในกระบวนการไต่สวน ยืนยันว่าการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์เป็นไปตามกระบวนการวิชาชีพ
นางสาวศศินันท์ ยังสอบถามว่าจากเหตุต้องรอกุญแจไขประตู ในอนาคตจะมีแนวคิดปรับปรุงกระบวนการคุมขังอย่างไร
พันตำรวจเอกทวี ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตในราชทัณฑ์เฉลี่ย ปี 67 คิดเป็น 2% สรุปในราชทัณฑ์ เสียชีวิตน้อยกว่าบุคคลข้างนอก ที่เสีย 7.9% สิ่งที่ต้องทำให้ได้ในยุคตน แม้ใครจะค้าน คือจะต้องมีเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี และต้องแยกเรือนจำเด็ดขาด รวมถึงใช้เรือนจำเฉพาะทาง ตนขอท้าทาย ว่าจะทำอย่างไรให้ราชทัณฑ์เป็นสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพจากยาเสพติด ซึ่งจะต้องใช้งบจากสปสช. นี่คือการปฏิรูปของตน และเปิดโอกาสให้คณะกรรมการสิทธิ์ และบุคคลภายนอก สะท้อนเข้ามา
นางสาวศศินันท์ ยังสอบถามถึงความคิดเกี่ยวกับนักโทษคดีการเมือง เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่สูญเสียใครอีก
พันตำรวจเอกทวี ระบุว่า คดีการเมือง รวมถึงคดี 112 ปัจจุบันเหลือน้อยลง เหลือ 25 คน ช่วงหลังศาลให้ประกัน ทั้งนี้ สิ่งที่กำลังจะทำ คือในคดีระหว่าง ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสิน ให้ถือเป็นผู้บริสุทธ์ กำลังผลักดันกฎกระทรวง ส่วนหนึ่ง ตามมาตรา 89/1 ถ้าศาลเห็นด้วย ก็จะขอให้เขาไม่ต้องมาอยู่ในราชทัณฑ์ ให้อยู่ที่บ้าน ติดกำไล EM รวมถึงโปรแกรมการปฏิรูป ของผู้ถูกคุมขัง ที่อย่างน้อย ผู้ที่ออกจากกรมราชทัณฑ์ จะต้องมีเงินเก็บ 70,000 – 100,000 บาท.-319 -สำนักข่าวไทย