โรงแรมสวิสโซเทล รัชดา 24 พ.ค.-ป.ป.ช.ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปราบทุจริต ด้าน ปธ.หอการค้าร่วม ตปท.มองเสถียรภาพการเมืองไทย การจ่ายน้ำร้อนน้ำชา กระทบการตัดสินใจต่างชาติลงทุน
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย จัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “การต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชนและบทบาทของภาคเอกชนไทย” โดยมี นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. นาง Vibeke Lyssand Leirvag (วีเบอเกอ เลอเซนด์ เลอแวก) ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเสวนา
นายนิติพันธุ์ กล่าวถึงสถานการณ์คอรัปชั่นโดยเฉพาะการติดสินบนพนักงานรัฐว่า การติดสินบนเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งธนาคารโลกประมาณการว่าในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายสำหรับติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อให้ได้เปรียบในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ขณะที่ World economic forum ประมาณการตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5% ของ GDP โลก ขณะที่มาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรา 138 ของพ.ร.ป.ป.ป.ช. โดยประสานการทำงานร่วมกับบริษัทต่างชาติ เมื่อพบการทุจริตและการติดสินบน
“ป.ป.ช.ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศในภารกิจป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยประสานความร่วมมือทางคดีอาญา ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งป.ป.ช.มุ่งเน้นสู่มาตรฐานต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในไทยเกิดความมั่นใจ ขณะเดียวกันบริษัทต่างชาติต้องปฏิบัติตามมาตรฐานอนุสัญญาต่อต้านการทุจริต กำหนดให้รัฐภาคีจะต้องออกมาตรการส่งเสริมและป้องกันการทุจริต ส่งเสริมคุณธรรมโดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กรไม่ยอมรับการทุจริต ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงความรับผิดทางอาญากรณีการทุจริตทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศรวมถึงนิติบุคคลที่มีส่วนร่วมทุจริต และให้สัญญาเป็นโมฆะสัมปทาน ซึ่งป.ป.ช.มีความพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถเอาผิดซ้ำใน 2 ประเทศ” รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าว
นายนิติพันธุ์ กล่าวว่า มีความจำเป็นที่ไทยจะต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศภาคี เนื่องจากคดีอาญา การใช้ช่องทางการทูต มีความยุ่งยาก ทั้งนี้ ป.ปช ได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริต เน้นการป้องกันและให้คำแนะนำ โดยมีบริษัทที่เข้าร่วม มากกว่า 1,500 แห่ง มีบริษัทที่ได้รับการรับรองแล้ว 500 แห่ง ขณะเดียวกันไทยมุ่งหวังที่จะเข้าเป็นภาคี OECD หรืออนุสัญญาต่อต้านการติดสินบน ขณะนี้ มี 44 ประเทศเป็นประเทศสมาชิก
ด้านนางวีเบกเกอ กล่าวว่า หอการค้าต่างประเทศทำงานในประเทศไทยมา 48 ปีแล้ว มีสมาชิก 36 บริษัท มีเครือข่าย 8,000-9,000 บริษัท เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการที่เติบโตและยังมีโอกาสในการลงทุนมากมาย และประเทศไทยยังอยู่ในพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปสู่ตลาดอาเซียนได้ และมีมาตรการจูงใจการลงทุนจำนวนมาก แต่โอกาสมาพร้อมความท้าทาย ทั้งการแข่งขันในภาคธุรกิจและระบบราชการไทยที่ซับซ้อน เรื่องเสถียรภาพทางการเมือง
“ที่ผ่านมาจะมีการประท้วง มีการรัฐประหาร ที่จริงรัฐบาลปัจจุบันให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวนไม่น้อย แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือการปรับปรุงระบบการศึกษา up skill เพิ่มทักษะการทำงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โลจิสติกส์และสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ ที่ผ่านมาไทยมีปัญหาการทุจริต มีความเสี่ยงต่อชื่อเสียงไม่น้อย เป็นเหตุผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนและประกอบธุรกิจในไทย” ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศฯ กล่าว
นางวีเบกเกอ กล่าวว่า จะเห็นว่าค่า CPI หรือดัชนีรับรู้การทุจริต ไม่ได้พัฒนาขึ้นจากปี 2018 ซึ่งไทยอยู่ในลำดับที่ 99 แต่ปัจจุบันอยู่ที่ลำดับที่ 108 ทำให้เห็นว่าการทุจริตคอรัปชั่นทำให้เกิดปัญหาในการประกอบธุรกิจ เกิดความไม่ยุติธรรมหากไม่มีการจ่ายค่าน้ำชา ดังนั้น หอการค้าร่วมฯ มีส่วนร่วมในการทำให้เกิดความยุติธรรมและเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการจะต้องทำงานร่วมกัน
ขณะที่นางกุลภัทรา สิโรดม ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า ถ้าบริษัทมีกรรมการที่ดี สามารถลดการติดสินบนและการทุจริตลงได้ทั้งในบริษัทและนอกบริษัท รวมถึงทั้งในประเทศและนอกประเทศด้วย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยก่อตั้งเมื่อปี 2010 เพื่อป้องกันการคอรัปชั่นโดยสมัครใจ จัดทำหลักสูตรการศึกษาเพื่อต่อต้านการทุจริต โดยอิงมาตรฐานนานาชาติ จัดอบรมการวิเคราะห์และควบคุม ลดปัญหาการทุจริตภายในองค์กรของตัวเอง และยังมีโปรแกรมผู้นำจริยธรรมที่พยายามจะช่วยผู้บริหารให้ตัดสินใจ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ
ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เห็นว่า การสร้างคุณธรรมและค่านิยมต่อเยาวชนไทยต่อต้านการทุจริตถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดโอกาสการทุจริตในประเทศไทยลงได้ รวมถึงร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมการเปิดเผยการทุจริตทุกประเภท โดยเฉพาะการจัดจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ การสนับสนุนการผลักดันการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น.-317.-สำนักข่าวไทย