กรุงเทพฯ 23 พ.ค.-นักวิชาการ มอง ศาลรธน.รับคำร้อง 40 สว.ยื่นถอดถอน “เศรษฐา” เพื่อเป็นบรรทัดฐาน เชื่อหากศาลชี้ “พิชิต” ขาดคุณสมบัติ จะโยงถึงนายกฯ ทันที
นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตรองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และอดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 40 สว. ให้ถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ว่า การที่นายพิชิต ชื่นบาน ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ก็เท่ากับว่าผู้ที่ถูกร้องว่ากระทำผิดไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้ว โดยรูปการศาลก็จำหน่ายคดีก็ได้ แต่การที่ศาลรับคดีไว้พิจารณา ก็คงมองว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะที่จะให้มีบรรทัดฐานเอาไว้ ซึ่งศาลก็ต้องดูว่ากรณีของนายพิชิต ความผิดสำเร็จหรือยัง นายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือไม่ หากขาดคุณสมบัติ แม้ชิงลาออก แต่ความผิดสำเร็จแล้ว เสมือนหยิบของจากห้างมา แล้วกลัวเจ้าของจับได้ก็เอามาคืน ถามว่าผิดหรือไม่ ก็ผิดตั้งแต่หยิบของออกไปจากห้างแล้ว จะอ้างว่าเอามาคืนแล้ว คงไม่ได้ แต่โทษอาจจะเบาลง ดังนั้นศาลอาจจะพิจารณาในประเด็นนี้ได้ว่า เมื่อมีคุณสมบัติไม่ครบ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามมาตรา 160 ในคุณสมบัติของรัฐมนตรี อาจจะส่งผลกระทบกับคนที่เสนอชื่อแต่งตั้ง คือนายกรัฐมนตรีได้
“เหมือนไปหยิบของจากร้านมา แล้วบอกว่าตัวเองไม่ตั้งใจขโมย ก็คงพูดไม่ได้ ถ้าศาลไปตีความว่าคุณพิชิตขาดคุณสมบัติ เพราะว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ตามมาตรา 160 เรื่องนี้อาจจะลามไปถึงคนที่แต่งตั้งคือท่านนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ดูเรื่องนี้หรืออย่างไร มีผลอะไรเหตุผลอะไร เพราะเขาทักกันมาตั้งแต่ก่อนแต่งตั้ง ตั้งแต่รอบที่แล้ว รอบแรกก็มีชื่อโผล่มา คนก็วิจารณ์ ก็มีพยานหลักฐานแวดล้อมอยู่ ไม่ใช่ไม่รู้มาก่อน ก็รู้อยู่แล้วว่ามีคนวิพากษ์วิจารณ์ทำไมถึงแต่งตั้ง ถ้าศาลตีความว่าขาดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีก็เข้าข่าย ถูกศาลวินิจฉัยว่าทำอะไรไม่ถูกด้วย ทั้งหมดทั้งมวลก็แล้วแต่ศาล เราก็คาดเดา ไปเฉยๆ ว่า เหตุผลที่ศาลรับไว้พิจารณา คือ มีมูลเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน” นายชาติชาย กล่าว
สำหรับกรณีที่ไม่สั่งนายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น นายชาติชาย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังคงปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างตามปกติ เพราะการจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ต่อเมื่อเป็นการกระทำ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง และถ้าให้ทำหน้าที่ต่อไป อาจจะมีความเสียหายเกิดขึ้น แต่กรณีนี้เป็นเรื่องของการเสนอแต่งตั้ง ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติหน้าที่ บริหารบ้านเมืองต่างๆ จึงให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยสุดท้ายจะออกมาว่าอย่างไร
ส่วนคาดว่าจะใช้เวลาในการวินิจฉัยนานหรือไม่นั้น นายชาติชาย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ตอบยาก แต่ความจริงแล้ว หลักฐานในเชิงประจักษ์ในเชิงข้อกฎหมาย และในเชิงเอกสารหลักฐานก็ค่อนข้างชัด น่าจะไม่ต้องไปไต่สวนเพิ่มเติมที่ไหน เพราะมีลายลักษณ์อักษรมาหมดแล้ว จึงไม่น่าจะใช้เวลานานนัก หรืออย่างมาก ก็เรียกกฤษฎีกาไปถาม หรืออาจจะให้นายกรัฐมนตรีชี้แจง.-1-312.-สำนักข่าวไทย