ทำเนียบรัฐบาล 2 พ.ค.- เลขาฯ กกต. เผย พ.ร.ฎ.สว. ไม่ห้ามสื่อเสนอข่าว-จัดเวทีฯ แนะระวังผิดกฎหมายอื่น ผู้สมัคร-ประชาชนดูประวัติผู้สมัคร ผ่านแอปฯ สมาร์ทโหวต-เว็บ กกต. ขู่จับตาผู้สมัครทำผิดระเบียบ มีมาตรการป้องกันฮั้วเลือกตั้ง
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อวิจารณ์รูปแบบของการเลือก สว.ว่า รูปแบบการเลือกอยู่ในกฎหมายไม่ใช่ของกกต.ไปแก้อะไรไม่ได้แน่นอน ส่วนการแนะนำตัว ความจริงมาจากกฎหมาย เราไม่ได้ทำอะไรเกินกฎหมาย โดยกฎหมายให้แนะนำตัว คือการแนะนำตัวกับผู้มีสิทธิ์เลือกคือผู้สมัคร ส่วนกกต.ตระหนักถึงความสำคัญของประชาชน เพราะสุดท้ายแม้จะไม่ได้เลือกโดยตรงจากประชาชน แต่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย
“ประชาชนมีสิทธิ์ติดตาม ตรวจสอบ สังเกตการณ์ตั้งแต่หลังปิดสมัคร โดยกกต.จะนำชื่อผู้สมัคร สว.ทุกคน เผยแพร่ลงในแอปพลิเคชั่น สมาร์ทโหวต และในเว็บไซต์ของสำนักงานกกต.เพื่อให้ประชาชนทราบรายชื่อ ประวัติ การทำงาน ประสบการณ์ของผู้สมัคร ขณะที่ผู้สมัครส.ว. สามารถติดต่อกันได้ทางอีเมลหรือแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อแนะนำตัวเอง คิดว่าระบบนี้เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนและผู้สมัครสว. มีข้อมูลในการพิจารณาเลือกผู้สมัครด้วยกันเองได้” เลขาธิการกกต. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีบุคคลออกมาเปิดเผยตัว ว่า จะลงเป็นผู้สมัครสามารถทำได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่ผิดกฎหมายอะไร การเปิดตัวและการเชิญชวน สามารถทำได้
เมื่อถามกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาเชิญชวนให้สมัคร สามารถทำได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า สามารถทำได้ไม่ว่าใครก็ทำได้
“ไทม์ไลน์วันสมัครที่ชัดเจน กรณีเลือกสว.ไม่เหมือนสส. ที่จะบอกได้ว่าเลือกตั้งวันไหน และภายในกี่วัน แต่สว. จะเริ่มดำเนินการนับหนึ่งได้เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาประกาศ ตอนนี้ยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ ลงมา หลังจากโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว จึงมีกระบวนการชัดเจน รวมเวลาแล้วไม่เกิน 60 วัน” เลขาธิการกกต. กล่าว
เมื่อถามว่าหากมีพระราชกฤษฎีกาให้เลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ออกมาแล้ว สว. สามารถเผยแพร่ประวัติหรือข้อมูลผ่าน โซเชียล มีเดียได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ในระเบียบแนะนำตัวให้สามารถทำผ่านอิเล็กทรอนิกส์หรือโซเชียลมีเดียได้ และให้แนะนำตัวกับผู้สมัครด้วยกันเอง และในวันเลือกตั้งกกต.จะถ่ายทอดผ่านวงจรปิดทุกที่เพื่อให้ผู้สื่อข่าวและประชาชนได้สังเกตการณ์ ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัดประเทศ
เมื่อถามว่ ข้อปฏิบัติของสื่อ หลังมี พ.ร.ฎ.เลือกสว.การสัมภาษณ์ผู้สมัคร ไปก่อนหน้านี้ จะต้องลบคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้หรือไม่ เลขาธิการกกต. กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรที่ผิดกฎหมาย กกต.ได้ดูพฤติการณ์ทั้งสื่อและกลุ่มคนที่จะสมัครหรืออาจไม่สมัคร ได้รวบรวมไว้หมดแล้วแต่ยังไม่เห็นอะไรที่ล่อแหลมจะผิดกฎหมาย สำหรับกรณีของสื่อ ระเบียบการแนะนำตัว ออกมาใช้บังคับกับผู้สมัครเท่านั้น ไม่ได้บังคับสื่อ
“สื่อ สามารถรายงานหรือเสนอข่าว หรือวิเคราะห์ข่าว ให้ความเห็น จัดเวทีได้หมด แต่ให้พึงระวังเรื่องของกฎหมายอื่น เพราะอาจไปหมิ่นประมาทผู้สมัครอื่น แต่หากเป็นข้อเท็จจริงสามารถนำเสนอได้เพราะไม่ได้มีข้อห้ามแต่อย่างใด เราอาจห้ามผู้สมัคร โดยผู้สมัครจะต้องระวังตัวในการแนะนำตัวและปฏิบัติตามคำแนะนำของกกต.“ นายแสวง กล่าว
เมื่อถามว่า กกต. มีกลไกป้องกันการทุจริต หรือฮั้ว ในการเลือกส.ว. หรือไม่ เลขาธิการกกต. กล่าวว่า โดยตัวระบบกฎหมายที่ออกมาป้องกันการฮั้วอยู่แล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าคนจะไม่คิดฮั้ว และจากนี้ไปคือ มาตรการของกกต. ทั้งนี้จำนวนผู้สมัครประมาณ 4 แสนคน อาจจะมองดูเยอะ แต่ที่จริงแล้วแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพเมื่อเลือกแล้วจะเหลือไม่กี่คนในสาขาอาชีพ โดยมาตรการฮั้ว จะมี2รูปแบบ คือแลกคะแนนกัน โดยกกต.จะมีมาตรการจัดการไม่ว่าผู้สมัครจะทำบนดินหรือใต้ดิน และการจัดตั้ง เอาผู้สมัครมาเลือกคนที่จะให้เป็นสว. คือไม่ได้สมัครเพื่อที่จะเป็นสว.แต่จะมาเป็นเสียงเพื่อเลือกสว.ให้ สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้และ กกต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ.-316 .-สำนักข่าวไทย