ประกาศ 1 ต.ค.นี้ ดีเดย์ขึ้นค่าแรงทุกภาคส่วนเป็น 400 บาท

กรุงเทพฯ 1 พ.ค. – รมว.แรงงาน ประกาศ 1 ต.ค.นี้ ดีเดย์ปรับขึ้นค่าแรงทุกภาคส่วนเป็น 400 บาทต่อวัน พร้อมเดินหน้าสานต่อ 600 บาทต่อวัน ด้าน “อนุทิน” ย้ำนโยบายนี้สำคัญไม่แพ้ดิจิทัลวอลเล็ต


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงงาน ร่วมเปิดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2567 และเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี รับข้อเรียกร้องจากผู้นำแรงงาน 10 ข้อ ประกอบด้วย
1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98
2.ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง
3.ให้รัฐบาลปฏิรูปแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น ปรับฐานการรับเงินบำนาญให้เริ่มต้นที่ 5,000 บาท เมื่อผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ขอให้คงสิทธิรักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต
4.ให้กระทรวงแรงงานจัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน
5.ให้ใช้มาตรการเคร่งครัดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1

6.เร่งรัดให้ได้ข้อสรุปแนวทางจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุ ให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33
7.เพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้ลูกจ้าง โดยเร่งให้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
8.ยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน
9.เมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ให้กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่ารักษาส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล
10.ให้ รมว.แรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 2567


นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้มาในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลยินดีและพร้อมพร้อมที่จะสนับสนุนให้พี่น้องแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รายได้ที่ดีขึ้น สวัสดิการที่ดีขึ้น

กระทรวงแรงงานจะนำข้อเสนอทั้ง 10 ข้อจากตัวแทนลูกจ้าง มาสานต่อและทำงานอย่างเป็นระบบ ยืนยันจะนำทุกข้อเสนอ ปรับปรุง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องแรงงาน

ขอประกาศข่าวดีให้กับพี่น้องแรงงานทุกภาคส่วนว่าเตรียมประกาศปรับเพิ่มค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ต้องขออภัยที่อาจจะต้องใช้เวลานาน เพราะจะต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับทุกๆ ฝ่าย ยืนยันนโยบายนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่าดิจิทัลวอลเล็ตที่จะช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


ด้านนายพิพัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ยังไม่มีการปรับขยับค่าแรงเป็น 400 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากยังติดปัญหาการเจรจาพูดคุยทำความเข้าใจกับหลายๆ หน่วยงาน โดยเฉพาะภาคเอกชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่หากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่หลังจากที่มีการประกาศนำร่องไปเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่าจะให้ปรับค่าแรงเป็น 400 บาท ให้กับผู้ทำงานในโรงแรม ตั้งแต่ 4 ดาวก่อน ก็ได้รับการประสานจากสมาคมโรงแรมว่าทุกโรงแรมทั่วประเทศพร้อมจะปรับค่าแรงขึ้นเป็น 400 บาท เพียงแต่อยากจะขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องของการอบรมมาตรฐานและทักษะการทำงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทางกระทรวงพร้อมรับข้อเสนอไปพูดคุยในคณะรัฐมนตรี เพื่อของบประมาณในส่วนนี้ ยืนยันว่าค่าแรง 400 บาท ที่จะประกาศปรับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป จะได้พร้อมกันทุกภาคส่วน ทุกกิจการ และในทุกจังหวัดไม่มีการแบ่งแยกหรือนำร่องแต่อย่างใด จะเป็นการประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากที่มีประกาศจะเข้าสู่กระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยับเพิ่มเป็น 600 บาท ภายในระยะเวลาที่รัฐบาลชุดนี้ได้ประกาศไว้ ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 3 ปี ให้ศึกษาความเป็นไปได้

ถามว่ามีความกังวลเรื่องอะไรกับการประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท นายพิพัฒน์ ระบุว่า ค่อนข้างมีความกังวลเรื่องของการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ถ้าหากเทียบกับค่าแรงในรอบอาเซียน ประเทศไทยถือว่ามีค่าแรงค่อนข้างสูง รวมทั้งการขยับขยายของกิจการในประเทศต้องมีการเพิ่มทุนอีกจำนวนมาก ตรงนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 6 เดือน ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย ในการออกไปพูดคุยกับเจ้าของกิจการทั้งในและต่างประเทศ ว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในส่วนใดบ้าง ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการสนับสนุนส่วนนี้คาดว่าจะต้องหารือกับหลายหน่วยงาน เพราะจากการประเมินน่าจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล

นอกจากนี้ยังกังวลเกี่ยวกับผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการอิสระที่จำเป็นจะต้องมีการจ้างแรงงาน ส่วนนี้จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นมาพอสมควร และอาจจะกระทบต่อธุรกิจของคนกลุ่มนี้ได้ช่วงเวลาที่เหลือก่อนถึงเดือนตุลาคม จะให้ทุกหน่วยงานเข้าไปพูดคุยศึกษาว่าหากประกาศจะติดขัดในเรื่องอะไรบ้าง และอยากจะให้รัฐบาลช่วยเหลือในประเด็นใดบ้าง.-611-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง