กระทรวงการต่างประเทศ 24 เม.ย.-กต. เผย สถานการณ์ชายแดนเมียนมาดีขึ้น ไม่มียิงกันในรอบ 48 ชม. ผู้หนีภัยทยอยกลับแล้ว ย้ำยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ยันไทยพร้อมเป็นตัวกลางเจรจา
นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ว่า คณะกรรมการได้ติดตามสถานการณ์ความมั่นคง สังคม และเศรษฐกิจ ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ว่ามีความไม่แน่นอนสูง มีความผันผวน ขยายพื้นที่การสู้รบระหว่างฝ่ายต่อต้านและกองทัพเมียนมา ชายแดนไทยและเมืองเมียวดีเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายต่อต้าน และกองทัพเมียนมาต้องการยึด
“โดยแนวโน้ม 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทุกอย่างดีขึ้น คนในพื้นที่ไม่ได้ยินเสียงปะทะ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยข่าวได้ประเมินสถานการณ์ไว้หลายสถานการณ์ รวมถึงสถานการณ์ที่จะมีผู้หนีภัยความไม่สงบเข้ามาฝั่งไทยมากขึ้น และย้ำท่าทีไทยว่า 1.ไทยยึดมั่นรักษาอธิปไตยของคนไทย รวมถึงการดูแลความปลอดภัยความมั่นคงของพี่น้องชาวไทย 2.ไทยไม่ให้ใช้ดินแดนในการดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลต่างประเทศไม่ว่าจะจากฝ่ายใด 3.ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ”นายนิกรเดช กล่าว
นายนิกรเดช กล่าวว่า คณะกรรมการได้มอบหมายงานให้กระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบการสื่อสารต่อสาธารณชนไทย และต่างประเทศ ส่วนศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดตาก จะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข่าวในพื้นที่ พร้อมให้ที่ประชุมประเมินสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ โดยให้ สมช. เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงและการข่าว ส่วนกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก ในการประสานด้านการทูต โดยตอนนี้ไทยได้ประสานให้มีการประชุมอาเซียนทรอยก้า และกรอบอาเซียนทรอยก้าพลัส ผ่านประธานอาเซียน ประเทศลาว
นายนิกรเดช ย้ำว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่การกระทบกระทั่งระหว่างไทย-เมียนมา และไทยไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายในของเมียนมา ไทยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าเราจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มต่าง ๆ ที่เข้ามาสู่ประเทศไทย ทั้งกลุ่มพลเรือน ทหารที่ขอหนีภัย ซึ่งเรามีหลักสากลในการให้ความช่วยเหลือ ทั้งการปลดอาวุธ และการเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นเครื่องแบบพลเรือน ส่งกับประเทศเมื่อสถานการณ์สงบผ่านหลักการไม่ส่งผู้หนีภัยกลับไปสู่อันตราย ทั้งนี้การดำเนินการจะตั้งอยู่บนพื้นฐานสมดุล ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน
นายนิกรเดช กล่าวว่า ไทยมีความพร้อมในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การให้ที่พักพิงแก่ผู้หนีภัย โดยที่ผ่านมาประชาชนเมียนมาที่เข้ามาในไทยได้กลับไปเป็นจำนวนค่อนข้างสูง สะท้อนว่าสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงมากขึ้นสถานการณ์น่าจะสงบลงในระดับที่ผู้หนีภัยในฝั่งไทยคลายความกังวลและขอกลับไป
ส่วนผลกระทบต่อไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง มีผลกระทบทางการค้าชายแดน ซึ่งเป็นผลกระทบชั่วคราว คณะกรรมการจึงพิจารณาแนวปฏิบัติการบริหารจัดการผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ซึ่งจะมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ โดยเตรียมการ 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.ภาวะปกติ 2.การดำเนินการกรณีที่ผู้หนีภัยเข้ามายังประเทศไทยแล้ว 3.การขอรับการสนับสนุนในภาพรวมจากองค์การระหว่างประเทศ 4.การประชาสัมพันธ์ให้สาธารชนทราบ
นอกจากนี้คณะกรรมการยังมีแนวทางจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณารายละเอียด จะประกอบด้วยผู้ประสานงานหลัก และหน่วยงานต่างๆ โดย สมช.จะเป็นผู้ดำเนินการในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดนี้
นายนิกรเดช ยังกล่าวถึง การลงพื้นที่ตามแนวชายแดนตลาดริมเมย สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 อ.แม่สอด จ.ตาก ของปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ตามที่ได้รับรายงานมานั้น ตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. ไม่มีการสู้รบในบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 โดยผู้หนีภัยความไม่สงบที่มาอยู่ในฝั่งไทยสูงสุดคือ 3,000 กว่าคน แต่จนถึงตอนนี้ได้เดินทางกลับไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยจำนวนที่ยังอยู่ในไทยตอนนี้ประมาณ 650 คน และคาดว่า มีแนวโน้มที่ผู้หนีภัยจะเดินทางกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นายนิกรเดช กล่าวต่อว่า กองกำลังนเรศวร โดยหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ซึ่งประจำการอยู่ในพื้นที่ก็มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา หากมีความจำเป็นก็พร้อมจะเพิ่มกำลัง ทั้งนี้การดำเนินการดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบนั้น ขอย้ำว่า เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม โดยเมื่อมีคนเดินทางเข้ามาก็จะมีพื้นที่แรกรับ เพื่อแยกแยะว่าคนกลุ่มใดเพื่อเก็บข้อมูล และนำคนเหล่านั้นไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ก่อนที่จะไปยังพื้นที่พักรอ ซึ่งตอนนี้ทางการไทยมีพื้นที่พักรอเกิน 50 จุด และทางกาชาดได้ตั้งศูนย์รับบริจาคสิ่งของจากเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรอื่นๆ ตลอดจนคนไทยในพื้นที่ด้วย
สำหรับการค้าชายแดน นายนิกรเดช ระบุว่า ได้รับผลกระทบพอประมาณ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม พบว่า ปริมาณการค้าในชายแดนลดลงประมาณไม่เกิน 20% แต่สิ่งที่สำคัญมากที่นายปานปรีย์ ได้ลงพื้นที่คือ เรื่องขวัญกำลังใจของประชาชน ซึ่งต้องการให้ประชาชนตามแนวชายแดนความสบายใจ และมีความมั่นใจในมาตรการที่รัฐบาลเริ่มดำเนินการอยู่
นายนิกรเดช กล่าวต่อไปว่า ขวัญ และกำลังใจของประชาชนในตามแนวชายแดนยังมีมาก ซึ่งประชาชนในพื้นที่ทราบดี ว่าสามารถขอย้ายไปยังพื้นที่ที่มีความปลอดภัยได้ หากมีความจำเป็น รวมถึงกองกำลังนเรศวรยังมีชุดทหารเดินสายให้ความรู้ และให้ความมั่นใจแก่ประชาชนเพื่อประเมินถึงความเสี่ยงหรือไม่ในพื้นที่ ซึ่งสามารถลดกระแสความกังวลของประชาชนได้มาก
นายนิกรเดช ย้ำว่า สถานการณ์ปัจจุบันตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานมานั้นพบว่า สถานการณ์ดีขึ้นค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยก็ยังคงติดตามสถานการณ์ และเรายังคงประเมินว่า สถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
“หน่วยงานต่างๆ ของไทยมีแผนที่จะรองรับสถานการณ์ ขอให้ประชาชนในพื้นที่มีความสบายใจ และไว้วางใจได้ว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะดูแลความปลอดภัยของประชาชนเป็นลำดับแรก“ นิกรเดช กล่าว
เมื่อถามว่า ในที่ประชุมได้มีการประเมินหรือไม่ ว่าด่านพรมแดนแม่สอดจะเปิดได้เมื่อไหร่ นายนิกรเดช กล่าวว่า ตอนนี้ขึ้นอยู่กับฝั่งเมียนมา ว่าเจรจากันไปถึงไหน ตนทราบว่าทุกฝ่ายในเมียนมาก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปิดช่องทางการเดินทางเพราะสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 เป็นช่องทางการค้าชายแดนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ดังนั้น ที่ปิดก็เพราะมีความเสี่ยง และทางเจ้าหน้าที่ฝั่งเมียนมาไม่สามารถมาปฎิบัติหน้าที่ได้ ตนเชื่อว่าสะพานน่าจะเปิดได้ในเร็วๆ นี้ เมื่อวานนี้นายปานปรีย์ ก็ได้หารือกับสภาหอการค้าและภาคเอกชน ทุกฝ่ายก็มีความประสงค์เดียวกันว่าอยากจะให้การค้าชายแดนกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
เมื่อถามว่าการไทยจะเป็นตัวกลางในการประสานตามที่นายปานปรีย์ได้ให้สัมภาษณ์ ทางกระทรวงได้ดำเนินการถึงขั้นตอนไหน และกรอบเวลา สถานที่จะเป็นอย่างไร นายนิกรเดช กล่าวว่า ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา และสมาชิกของอาเซียน รวมถึงเป็นประเทศที่มีความสนิทสนมกับประเทศลาว ที่เป็นประธานอาเซียน เราได้สนับสนุนในทุกข้อริเริ่ม ซึ่งไทยได้เสนอให้มีการประชุมอาเซียนทอยก้า และอาเซียนทอยก้าพลัส เพื่อหาสันติภาพในเมียนมา โดยได้ส่งไปทุกประเทศแล้ว โดยเฉพาะลาว ซึ่งเป็นประธานอาเซียน ส่วนเกิดที่ไหนยังไม่มีข้อสรุป แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดที่ประเทศไทยก็ได้ หากมีการนัดจะรีบแจ้งให้ทราบ พร้อมย้ำว่าไทยพร้อมเป็น 1 ในผู้ที่จะทำให้เกิดการพูดจาในเมียนมา เบื้องต้นยังไม่ได้รับการติดต่อทั้งจากฝ่ายรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มต่อต้าน
นายนิกรเดช ย้ำว่า ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในเมียนมากระทบทุกคน โดยเฉพาะประเทศไทย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน
“ไม่ใช่แต่เฉพาะกับเรื่องเมียนมา แต่ไทยเป็น Advocate for Peace ดังนั้นย่อมเป็นเรื่องปกติมาก เมื่อเรื่องเกิดขึ้นประชิดชายแดนเพื่อนบ้านเรา เราย้ำจุดยืนการเป็น Active promoter of peace การเป็นประเทศผู้ต้องการนำสันติสุขมาสู่ความขัดแย้ง สะท้อนออกมาในการที่ประเทศไทยแสดงความพร้อมตามที่ทุกท่านทราบ เป็นหนึ่งในคนที่เข้าไปช่วยให้เกิดการพูดจาระหว่างฝ่ายต่างๆ ในเมียนมา หากฝ่ายเมียนมาเห็นว่าเรามีความพร้อมก็จะไปช่วย” นายนิกรเดช กล่าว
ส่วนกรณีที่ทหารเมียนมากำลังปฏิบัติการยึดคืนพื้นที่จังหวัดเมียวดี นายนิกรเดช ระบุว่า ทางการไทยติดตามข่าวตลอด ไม่ใช่แค่เฉพาะพื้นที่ชายแดนและกรุงเทพฯ เรามีสถานทูตและประชาคม ดังนั้น เรามีการติดตามข้อมูลอยู่ตลอดเวลาว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร ซึ่งสถานการณ์ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“ผมย้ำอยู่เสมอว่าเราติดตามกันรายชั่วโมง รายวัน มีความเคลื่อนไหวของฝ่ายกองทัพเมียนมา ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวในฝ่ายต่อต้านด้วย ผมจึงขอไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้เพราะตัวผมเองก็ได้รับรายงานที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา” นายนิกรเดช กล่าว
นายนิกรเดช กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของฝ่ายไทย ยังไม่ได้รับการติดต่อเพื่อให้เข้ามาดำเนินการเป็นตัวกลาง แต่จะมีการเริ่มเจรจากันภายในกลุ่มของเมียนมา.-314.-สำนักข่าวไทย