กทม. 9 เม.ย.-“พิธา” บอกแจงเหตุเมียนมาบินลงแม่สอด พูดไม่ตรงกันเลย จี้แถลงเป็นทางการ ชี้ถ้าปล่อยคลุมเครือจะลุกลาม “ชักศึกเข้าบ้าน” เตือน นายกฯ ยุทธศาสตร์การทูตไม่ควรพูดออกสื่อฯ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณีท่าทีรัฐบาลต่อการที่ทางการเมียนมาขอใช้สนามบินแม่สอด ว่า อยากเห็นความโปร่งใสและรายงานสถานการณ์ให้กับคนในพื้นที่ เพราะคนที่อยู่ในพื้นที่ก็ได้รายงานมาที่ สส.พรรคก้าวไกล นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่าจะมีการใช้ความรุนแรงเพิ่มเติม ซึ่งพอรัฐบาลไม่ได้มีการชี้แจง ตนและพรรคก้าวไกลจึงตั้งคำถามให้มีการแถลงเกิดขึ้น โดยรัฐบาลได้ตอบสนองมาทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ การโพส x ของนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ, คำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี และโฆษกกระทรวงกลาโหม ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน
“หลักของเราก็คือว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปตามหลักกฏหมายสากล และเรื่องสิทธิมนุษยชน มีความเท่าเทียมกัน แล้วอธิบายได้ ตรวจสอบได้ ถามได้ ผมคิดว่ามันจะคลายข้อสงสัยและเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ เป็นประโยชน์กับทางรัฐบาลเอง” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาพใหญ่ก็อยากจะย้ำสิ่งที่พูดกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าอยากให้เข้าสู่ปัญหาอย่างรอบด้านมากขึ้น เพราะกลุ่มในประเทศเมียนมามีหลายกลุ่ม และแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันออกไป ถ้าเข้าสู่ปัญหาไปที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก็จะดูว่าเราทิ้งน้ำหนักไปให้ฝั่งนั้น และจะไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ อย่างที่สอง เป็นเรื่อง Inter Agency Myanmar Task Force ในประเทศไทย หรือกองกำลังเฉพาะกิจที่จัดการเรื่องนี้โดยตรง เพื่อจะทำงานในเชิงรุกมากขึ้น
เมื่อถามย้ำว่า นายปานปรีย์ ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า ในเที่ยวบินนั้นไม่มีคน หรืออาวุธ แต่ก็ยังไม่ตรงกับการให้สัมภาษณ์และแถลงของส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อวาน (8 เม.ย.) จะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ก็จะยิ่งไม่มีความชัดเจน บางทีจุดประสงค์ของการแถลงที่กระทรวง ก็เพื่อจะลดข่าวลือ เพื่อจะให้ความมั่นใจกับประชาชนในพื้นที่และคนไทย ว่าประเทศไทยจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง
“ยังนับนิ้วคนที่ออกมาชี้แจง นายปานปรีย์ ก็เป็นคนที่ 5 ที่ออกมาพูดแล้วไม่ตรงกัน ทำให้เกิดความสงสัยว่ามีสิ่งที่ร่ำลือกันในพื้นที่ว่ามีคนในจังหวัดเมียวดีไปด้วยหรือไม่ มีผู้จัดการธนาคารไปหรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่ได้เชื่อ แต่ถ้าจะจบทุกเรื่อง รัฐบาลจะต้องแถลงเป็นเรื่องเป็นราว” นายพิธา กล่าว
ส่วนจะเป็นการชักศึกเข้าบ้านหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ตามมาในเชิงการต่างประเทศ เราต้องมีช่องทางที่ไม่ให้เกิดสิ่งที่ลุกลาม ซึ่งตนคิดว่านายปานปรีย์ น่าจะเข้าใจ ถ้าไม่แถลงให้ชัดเจนก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มากกว่านี้ ย้ำว่า รัฐบาลควรต้องต่อสายไปที่คนในพื้นที่ ชนกลุ่มน้อย และกลุ่ม NUG
“เขาเล่าให้ผมฟังว่า ติดต่อทางรัฐบาลหลายครั้ง แต่ว่าไม่ยอมที่จะเจรจาด้วย ตอนที่อยู่เจนีวา ประชุมรัฐสภาโลก IPU ก็มีคนของทางเมียนมาไปที่เจนีวา เขาก็ได้พูดความในใจของฝั่งเขาว่า พอ Diplomacy ของไทยไม่รอบด้าน สิ่งที่เขาพูดหรือเสนอก็ไม่ได้รับฟัง ผมคิดว่าในเมื่อน้ำหนักมันมาแบบนี้แล้ว มันถึงเวลาที่จะต้องเข้าถึง อย่างน้อยก็ต้องพูดคุยทั้ง 3 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นชาติพันธุ์ แต่ละรัฐก็เป็นผู้นำของตัวเอง , กลุ่ม NUG และรัฐบาลทหารในปัจจุบัน” นายพิธา กล่าว
นายพิธา ระบุว่า ถ้าเราอธิบายให้รัฐบาลทหารฟังว่าเราต้องการข้อมูลที่รอบด้าน ครบถ้วน จะทำให้เราเข้าใจในสถานการณ์เมียนมาดีขึ้น ก็จะสามารถวางยุทธศาสตร์ได้มากขึ้น
“ตอนที่ผู้นำ NUG อยู่ที่เจนีวา ก็เล่าให้ผมฟังว่าสถานการณ์เป็นแบบนี้ๆ แต่มันก็ไม่เหมาะสมที่จะพูดผ่านสื่อ ผมก็ถามเขากลับว่า เรื่องการเผาข้าวโพด การค้ามนุษย์ ออนไลน์สแกม ท่านผู้นำชนกลุ่มน้อยสามารถที่จะช่วยเมืองไทยด้วยได้หรือไม่ แล้วเราก็ยินดีที่จะช่วยเรื่องระเบียงมนุษยธรรมอย่างเท่าเทียม เขาก็บอกว่านั่นแหละคือสิ่งที่เขารออยู่ ถ้าเป็นเรื่องจริง การที่เราเข้าถึงทุกฝ่ายได้อย่างเท่าเทียมและไม่เลือกข้าง มันคือโอกาสที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหาในเมียนมามากขึ้น และทุเลาปัญหาที่มีอยู่ในบ้านเรา มันคือ Win-Win Situation ” นายพิธา กล่าว
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติว่า ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะเข้าไปพูดคุยเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะอาจจะเป็นจุดที่เขาอ่อนกำลัง นายพิธา ระบุด้วยท่าทีตกใจว่า ตนเห็นด้วย แต่ไม่น่าออกสื่อฯ
“เรื่องพวกนี้เป็นยุทธศาสตร์การทูต ไม่ควรจะพูดว่าเขากำลังอ่อนแอ แล้วเราจะขอไปคุยกับเขา ผมไม่สามารถไปพูดกับเขาได้ว่า ตอนนี้รัฐบาลอ่อนแอที่สุด ขอใช้โอกาสนี้ในการพูด” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวว่า ต่างชาติทั้งในอาเซียนเอง และประเทศมหาอำนาจ ก็รอท่าทีที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น ไม่เช่นนั้น ยุทธศาสตร์ 5 ข้อ ของอาเซียนจะไปไม่ได้ ตอนนี้ก็รอบทบาทไทยร่วมกับอาเซียนอยู่.-312-สำนักข่าวไทย