รัฐสภา 20 มี.ค.-สภาฯ เห็นชอบลดงบสำนักนายกฯ ตามกมธ.เสียงข้างมาก “สส.ก้าวไกล” รุมถล่มงบกอ.รมน. “ชยพล” ตั้งฉายา “กอ.รอหน้าห้อง” เหตุทวงขอเอกสารทีไร พักประชุมออกไปรอหน้าห้องทุกที ขณะ “รอมฎอน” ลั่น ในเมื่อยุบไม่ได้ก็ขอตัดเกือบ 90% ด้าน “จุลพันธ์” แจง กอ.รมน.งบเยอะ เพราะเป็นหน่วยงานหลักดูแลชายแดน ยันเบิกจ่ายตามแผน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ได้พิจารณามาตรา 7 ว่าด้วยงบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากปรับลดงบประมาณเหลือ 24,124,617,500บาท จากเดิมที่ได้งบ 24,834,743,400บาท
ระหว่างการอภิปราย สส.พรรคก้าวไกล จำนวน 5 คน รุมถล่มตัดงบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เนื่องจากเห็นตรงกันว่าเป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณเยอะ แต่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยนายชยพล สท้อนดี สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ ผู้สงวนความเห็นอภิปรายว่า กองอำนวยการรักษาความสงบมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบยากที่สุด และไม่เข้าใจว่าเหตุใดกรรมาธิการเสียข้างมากจึงปล่อยหน่วยงานนี้ให้ผ่านมาได้ เพราะไม่สามารถชี้แจงอะไรได้เลย พร้อมเสนอว่าควรเป็น ‘กอ. รอ หน้า ห้อง’
นายชยพล กล่าวว่า โครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ของ กอ.รมน. มีความน่าสงสัยว่าเนื้อหาของโครงการ และเหตุผลความจำเป็นต่างๆ ไม่ค่อยมีความสอดคล้องกัน เช่น โครงการพัฒนาด้านการเมือง และการสร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ จำนวน 10.5 ล้านบาท และโครงการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 33 ล้านบาท ซึ่งมีการชี้แจงว่า เป็นการจัดเวทีเสวนาผู้นำชุมชน และการสร้างทำเนียบปราชญ์ แต่สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องอะไรกับการรักษาความสงบภายในประเทศ
“แม้ตามความเข้าใจแล้ว กอ.รมน.ไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ เพราะเป็นหน่วยงานในการประสานงาน แต่กลับมีงบซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ 120 ล้านบาท ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะยอมเผยข้อมูลให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้วปรากฏว่าเป็นค่าซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ให้หน่วยงานอื่นๆ เช่น เป็นการซ่อมระบบสำรองไฟให้ค่ายทหาร ซ่อมกล้องตรวจการกลางคืน ซ่อมรถเกราะ ซื้อแบตเตอรี่โดรน ซื้อน้ำมันทำความสะอาดปืน แต่ละรายการ ส่งเลขมาถ้วนๆ เหมือนกับกลัวว่าเราจะไม่รู้ว่ามันมีปัญหาตุกติกอะไรซ่อนอยู่ เหมือนกับกลัวเราไม่รู้ว่าเป็นการเสกเลขขึ้นมาเฉย ๆ แล้วก็เบิกกันไปมั่ว ๆ สรุปแล้ว กอ.รมน. นอกจากจะไปแย่งหน้าที่กรมการข้าว สอนเขาทำนากันแล้ว ยังไปแย่งหน้าที่ของกรมการช่างอีกหรือ มันเซียนมาจากไหน มันเรียนที่ไหนมา ผมก็อยากจะทราบเหมือนกัน” นายชยพล กล่าว
นายชยพล กล่าวถึงโครงการเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย วงเงิน 345.6 ล้านบาท โดยมีสิ่งน่าสงสัยคือการจ้างเหมาลำเครื่องบินจากภาคเอกชน 12 เดือน มูลค่า 190 ล้านบาท จึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่ามีความจำเป็นต้องเหมาสายการบินเพื่อขับเคลื่อนนโยบายหรือ ต้องเดินทางไปไหนมากมาย และว่า “ไม่ติดปีกไม่หลีกทางให้นโยบายหรือครับ หรือนายไม่บินนโยบายไม่เดินอย่างนี้หรือครับ”
นายชยพล กล่าวว่า ในการประชุมกรรมาธิการฯ เมื่อพยายามจี้ถามขอเอกสารไปเรื่อย ๆ ก็จะพักประชุม กลับมาอีกทีก็จะมีข้อสรุปเรียบร้อยว่าจะตัดหรือไม่ตัดอะไรบ้าง จะถามย้ำก็มีการอ้างว่า มีมติแล้ว และสู่เรื่องอื่น แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่านี่เป็นการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพจริง การพิจารณางบประมาณครั้งนี้โปร่งใส รอบคอบ คุ้มค่าภาษี
“ผมขอเอกสารไปเยอะแยะมากมาย ไม่ได้กลับมาสักอย่าง แต่ปล่อยผ่านได้เฉย ถามจริงๆ ครับ ไปคุยกันนอกห้อง ไปคุยอะไร อยู่ๆ ก็เปิดไมค์บอก กอ.รมน. ไปรอหน้าห้อง ถึงได้เป็นที่มาของเนื้อเรื่องของผมในวันนี้ ‘กอ. รอ หน้า ห้อง’ ไปคุยอะไรกัน ช่วยตอบชี้แจงหน่อยได้ไหม ในฐานะกรรมาธิการ ถ้าไปคุยกันเองมันรู้เรื่องมากกว่า งั้นช่วยมาชี้แจงหน่อยว่า เงินทั้งหมดนี้สมเหตุสมผลอย่างไร” นายชยพล กล่าว
ขณะที่นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายขอตัดงบ กอ.รมน.ด้วย ระบุว่า รอยุบไม่ไหว ขอตัดใจตัดงบ กอ.รมน. เนื่องจากเห็นตัวเลขในแต่ละโครงการแล้ว ต้องตัดถึง 89.7% ตัดให้หมด ให้เหลืองบ 773 ล้านบาท เพราะ งบ กอ.รมน. เป็นงบก้อนที่ใหญ่ที่สุดในสำนักนายกรัฐมนตรี มากกว่ากระทรวงถึง 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและกีฬา อุตสาหกรรม และพลังงาน เอาอุตสาหกรรมมัดกับพลังงานยังไม่ถึงงบ กอ.รมน.เลย นอกจากนี้ ยังมีการอ้างถึงการใช้งบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ด้านร.ท.ธนเดช เพ็งสุข สส.กทม. พรรคก้าวไกล เริ่มต้นอภิปรายด้วยการเหน็บกอ.รมน. ว่าเป็นหน่วยงานที่น่าปวดหัวที่สุด ให้ชี้แจงอะไรก็ตอบไม่ได้ เอกสารก็ไม่มี กอ.รมน.ยุ่งกับทุกหน่วยงานราชการ เขียนแผนงานแบบเดิมมาทุกปี นอกจากนี้ ยังใช้งบเสริมสร้างความมั่นคงสถาบันหลักของชาติ 33 ล้านบาท แต่กลับไม่มีเอกสารชี้แจง ตนจะปล่อยไว้ไม่ได้ กอ.รมน. ทำทุกอย่าง ยกเว้นงานในหน้าที่ สรุปแล้วมีประโยชน์อะไร ตนจึงขอปรับลดลง 5%
ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะความมั่นคง ดังนั้น จึงขอกำลังพลตามแผนและยุทธศาสตร์ 24 ชั่วโมง ทำให้ต้องเบิกจ่ายเงินเพิ่มเติม ยืนยันว่าไม่มีความซ้ำซ้อนกันภายในองค์กร ภายหลังการอภิปรายของสมาชิกกว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมลงมติเห็นชอบ มาตรา 7 ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมาก มาด้วยคะแนน 292 ต่อ 169 เสียง.-312.-สำนักข่าวไทย