รัฐสภา 18 มี.ค.-“สว.สมชาย” จี้ ป.ป.ช. ไต่สวน ปม นายกฯ -รมว.ยุติธรรม-กรมควบคุมประพฤติ เอื้อ ”ทักษิณ“ รักษาโรงพยาบาลตำรวจและพักโทษที่บ้าน และทัวร์เชียงใหม่ ย้ำถามป่วยจริงหรือไม่
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) กล่าวถึงการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้พบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และยังเปิดเผยว่าหากมีโอกาสจะควงนายทักษิณลงพื้นที่ว่า เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สังคมตั้งคำถาม เนื่องจากเป็นนักโทษขั้นเด็ดขาดและอยู่ระหว่างการพักโทษ แต่การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำตัวเสมือนเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไปร่วมงานสังสรรค์ ในร้านอาหารกับเพื่อนนักเรียนมงฟอร์ต มีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการฯ ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมต่างๆ รองผู้บัญชาการตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปรายงานการปฎิบัติการ ชี้ว่าเป็นความไม่เหมาะสม และย้ำว่านายทักษิณยังอยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งตำรวจสั่งฟ้องแต่ยังคงรออัยการดำเนินการ ซึ่งจะพิจารณาในวันที่ 10 เมษายนนี้
“ ผมคิดว่าเรื่องนี้จะทำให้ในทางการเมืองตกต่ำลง โดยเฉพาะต่อรัฐบาลความไม่เหมาะสม บุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ รวมถึงนายกรัฐมนตรี คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องทบทวน นอกจากนี้เราต้องตรวจสอบคลิปที่ถ่ายต่างกรรมต่างวาระ แสดงถึงอาการที่หายป่วยของคุณทักษิณเกือบ 100% หรืออาจป่วยไม่เยอะอย่างที่หลายหน่วยงานทั้งนายกรัฐมนตรี แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ที่ออกมาระบุว่าป่วยวิกฤติต่อเนื่องร้ายแรง ถ้าไม่อยู่การรักษาต้องเสียเสียชีวิต” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า จากพฤติการณ์ของนายทักษิณในการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ ทั้งการโหนขึ้นรถกอล์ฟ การปลูกต้นไม้ ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริง ที่แพทย์เคยออกมาระบุว่ามีอาการกล้ามเนื้อเปื่อยยุ้ย และยังอ้างอิงข้อมูลจากแพทย์ที่ได้พูดคุยมาว่า หากดูจากทางกายภาพของนายทักษิณถือว่ามีสุขภาพที่แข็งแรง 90 เปอร์เซ็น ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบ ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช ตรวจสอบว่า ข้าราชการเอื้ออำนวยต่อนายทักษิณหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.จะต้องเร่งมือเพื่อที่จะส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าจะมีมติให้ไต่สวนหรือไม่ ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการของวุฒิสภา 2 คณะ ได้ส่งเอกสารที่มีการสอบไปแล้วให้กับ ป.ป.ช. ส่วนตัวจึงเห็นว่า ป.ป.ช. ควรมีมติไต่สวนเพิ่มเติม
นายสมชาย กล่าวว่า ผู้ที่รับผิดชอบคือ 1.นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับรัฐบาล ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ( ก.ตร.) เป็นผู้ดูแลโรงพยาบาลตำรวจ ว่าการเจ็บป่วยที่รักษา 180 วัน โดยแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งขึ้นมาจากแพทย์ใหญ่ และแพทย์ทำการรักษา มีข้อเท็จจริงจากเวชระเบียน ซึ่ง ป.ป.ช. มีอำนาจเรียกมาตรวจ หากผิดไปจากความเป็นจริงก็จะเข้าข่ายการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบของส่วนแพทย์ ขณะที่ส่วนที่สอง ที่จะต้องมีการตรวจสอบคนที่รับผิดชอบคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ คณะกรรมการพักโทษ จะต้องมีการสอบสวนว่าได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการอนุมัติตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ด้วยระบบที่ถูกต้องหรือไม่ ที่ให้นายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และการอนุมัติให้รักษาตัวต่อในโรงพยาบาลเป็นไปตามกฏหมายหรือไม่
และส่วนที่3 ที่ต้องถูกตรวจสอบคือกรมคุมประพฤติ ในการอนุญาตให้ไปพักโทษในการคุมขังนอกเรือนจำตามระเบียบ ซึ่งในเงื่อนไข 8 ประการ มีกำหนดห้ามดื่มเหล้า ที่หมายถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แต่กรณีการอนุญาตให้ดื่มไวน์ได้ รวมถึงการอนุญาตให้ไปไหว้สุสาน แต่กำหนดการที่สื่อมวลชนได้รับจากการเผยแพร่เปรียบเป็นกำหนดการตรวจราชการ กำหนดการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนของนักโทษ ไปสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี เมื่อเปรียบเทียบกับบรรทัดฐานที่ปฏิบัติกับนักโทษรายอื่น
“ที่กล่าวมาเป็นการทำหน้าที่ในฐานะวุฒิสภา ตรวจสอบแทนประชาชนตรงไปตรงมาตรง ไม่ได้มีอคติใดๆ กรณีนายทักษิณกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้นเห็นด้วย แต่กรณีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งนายกรัฐมนตรีและข้าราชการประจำ หากมีการเอื้ออำนวยให้เกิดปัญหาการบิดเบี้ยวและทำให้เสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม และเกิดวิกฤติศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตศรัทธาในอนาคต โดยจะนำเข้าสู่กรรมาธิการต่อไป พร้อมจี้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบโดยเร็วเพื่อให้ความแคลงใจของสังคมหมดไป”นายสมชาย กล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย