รัฐสภา 15 ก.พ.-“ชูศักดิ์” ระบุถ้าหยิบข้อเสนอแนะของ “ทักษิณ” มาใช้ไม่ได้ ประเทศนี้ก็แปลกประหลาด แจงเหตุเลื่อนประชุมร่วมรัฐสภาพรุ่งนี้ ถอนร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับ ห่วงขัดเจตนารมณ์รธน. ขอนำกลับมาศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจะได้รับการพักโทษ และอาจมีความเห็นทางการเมืองส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องรัฐบาลหรือไม่ ว่า ความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องสิทธิทางการเมือง ไม่มีกฎหมายไปบังคับว่าไม่ให้บุคคลใดแสดงความเห็นทางการเมือง เป็นเสรีภาพของบุคคลทั่วไป รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดก็ไม่ได้ห้าม เพียงแต่กฎหมายบางประเภทห้ามเรื่องคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง
ส่วนหากพรรคเพื่อไทยจะนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของนายทักษิณมาใช้จะมีผลอะไรหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีอะไรห้าม สมัยก่อนก็มีคนไปร้องเรื่องพรรคเพื่อไทยถูกครอบงำ นายทักษิณก็มีความเห็นออกมา ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งพรรคก็นำความเห็นและข้อเสนอแนะมาใช้ การแสดงความคิดเห็นของใครที่เราหยิบยกมาใช้ แล้วท้ายที่สุดหากมีคนบอกว่าผิดกฎหมาย มองว่าประเทศนี้แปลกประหลาดแล้ว
นายชูศักดิ์ กล่าวถึงกรณีถอนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบเห็นปัญหาพอสมควร เนื่องจากองค์กรอิสระทั้งหลายค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่เป็นเจ้าของร่างกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ป.ป.ช. เป็นองค์กรเดียวที่สามารถยื่นฟ้องนักการเมืองที่จะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เขียนไว้ในมาตรา 235 กรณีหากเอาผู้เสียหายไปฟ้องได้อาจจะขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากความหมายที่คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติเสนอแนะมาว่าหากผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวสำเร็จต้องส่งต่อให้ป.ป.ช.พิจารณาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เมื่อป.ป.ช.เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก
“ขณะที่ความเห็นสำนักงานอัยการสูงสุดเสนอว่าผู้เสียหายสามารถขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการได้ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ผู้เสียหายฟ้องเอง เพราะจะขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ซึ่งหากผลักดันต่อไปจะเป็นปัญหาด้วยเรื่องความชอบของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือถอนเรื่องออกมาก่อน เพื่อศึกษารายละเอียดให้ถ่องแท้รอบคอบ โดยให้พิจารณาเรื่องทั้งหลายที่องค์กรต่าง ๆ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะมาเพื่อที่ว่าเมื่อเสนอไปแล้วจะไม่เป็นปัญหา และจะเขียนกฎหมายอย่างไรไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ยกเลิกหรือไม่ดำเนินการ เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายที่เสนอมาโดยตลอดว่าจะต้องมีทางออกอย่างไร” นายชูศักดิ์ กล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย