รัฐสภา 1 ก.พ.-“กัณวีร์” ชี้ต้องคืนความจริงสู่สาธารณะหากหวังการให้อภัย ใช้โอกาสนิรโทษกรรมพาไทยพ้นแผลขัดแย้งสองทศวรรษ เขียนให้ชัดปลายทางคืออะไร-ใครคือกลุ่มเป้าหมาย
นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม อภิปรายสนับสนุนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยระบุว่า ญัตตินี้เป็นเรื่องที่ดี และกำลังมาถูกทางเพราะเรื่องนี้มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายมาก ขอชื่นชมรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย ที่ได้ตัดสินใจอย่างสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง ในการสร้างกลไกเพื่อเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้
นายกัณวีร์ ระบุว่า โจทย์แรกของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ คือจะต้องระบุให้ได้ถึงปลายทางที่พวกเราปรารถนาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมว่าคืออะไร หากจะยกโทษแล้วเหมือนกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นมาก่อนคงเป็นไปไม่ได้ จะต้องระบุให้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการนิรโทษกรรมคือใครบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ หลักการและเหตุผลในการร่างกฎหมายฉบับนี้ จะต้องเกิดฉันทาอนุมัติและเห็นพ้องอย่างชัดเจนใน 2 ประเด็นดังกล่าวก่อน
“การนิรโทษกรรมควรเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือการเมืองแห่งการให้อภัยและกระบวนการยุติธรรมในระยะที่เปลี่ยนผ่าน ดังนั้นความพยายามของพวกเราทั้งหมดในวันนี้ เพื่อมุ่งหวังที่จะออกจากความขัดแย้งรุนแรงที่ยืดเยื้อ ฝังราก และทิ่มลึกลงไปในความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง“ นายกัณวีร์ กล่าว
นายกัณวีร์ กล่าวต่อว่า มากกว่านั้นยังมีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างคนจำนวนมากกับรัฐ ดังนั้นการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะคำนึงถึงเพียงการลบล้างความผิดในมุมเดียวคงเป็นไปไม่ได้ แต่การศึกษาแนวทางการกฏหมายฉบับนี้จะต้องสามารถคลี่คลายความขัดแย้งในการเมืองไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมาได้พอสมควร โดยคำนึงอยู่ใน 2 กรอบข้างต้น คือ ปลายทางที่ปราถนาคืออะไร และกลุ่มเป้าหมายของการนิรโทษกรรมคือใครบ้าง
”การนิรโทษกรรมจะไม่สามารถนำไปสู่การให้อภัยซึ่งกันและกันระหว่างคู่ขัดแย้งและก้าวไปข้างหน้าด้วยไม่ได้เลย หากบางเรื่องที่ยังค้างคาในใจของแต่ละฝ่ายนั้นยังไม่คลี่คลายแน่ชัด ดังนั้นการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง หรือการดึงเอารายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ที่เคยจัดทำขึ้นแล้ว จำเป็นจะต้องนำมาประกอบไว้ในการพิจารณายกร่างกฎหมายด้วย“ นายกัณวีร์ กล่าว
นายกัณวีร์ ย้ำว่า การคืนความยุติธรรม ขั้นพื้นฐานที่สุดที่พอจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับการลบล้างโทษได้นั้น คือการคืนความจริงเกี่ยวกับความผิดนั้นๆ ให้กับสาธารณะ และความรับผิดชอบของรัฐที่ใช้อำนาจในการก่อความเสียหายหรือความสูญเสียแก่พี่น้องประชาชน หากมุ่งหมายให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ทำให้คนไทยหันหน้ามาให้อภัยซึ่งกันและกัน แล้วเดินหน้าร่วมกันใหม่ได้จริงๆ เราต้องสร้างความกระจ่างให้เห็นพ้องว่า คนแต่ละฝ่ายต้องให้อภัยแก่เรื่องใด ครอบคลุมใคร และกลุ่มใดบ้าง สังคมไทยจึงจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
“ดังนั้นการนิรโทษกรรมต้องดำเนินการควบคู่ไปกับอีกหลายส่วน จะแยกมาทำเพียงเรื่องเดียวคงไม่ได้ เช่น การแสดงความรับผิดชอบต่อฝ่ายต่างๆ ในความขัดแย้ง คือคนที่ทำผิดก็ต้องออกมารับผิด ไม่ใช่ใช้การนิรโทษกรรมมาปิดช่องทางการขออภัย ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดย เฉพาะการใช้อำนาจ หน้าที่ กฎหมาย และใช้กำลังเข้าห้ำหั่นพี่น้องประชาชน แล้วการนิรโทษกรรมพ้นผิดอย่างลอยนวลเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ใครทำผิดคดีอาญา หรืออุ้มซ้อมทรมานก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เราต้องดูรายละเอียดว่าใครทำผิดระดับไหนจะต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง”นายกัณวีร์ กล่าว
นายกัณวีร์ ยังกล่าวว่า กฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้ ต้องครอบคลุมถึงการเยียวยาโดยเฉพาะการเยียวยาทางด้านจิตใจ และยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่จำเป็นต้องเข้ามาสู่การพิจารณาศึกษา เพื่อให้เห็นแนวทางที่เป็นไปได้ และทุกฝ่ายยอมรับ
นายกัณวีร์ ย้ำว่า ตนไม่ได้มีเจตนาขัดขวาง แต่ตลอดประวัติศาสตร์ของการเมืองสมัยใหม่ ประเทศไทยมีการนิรโทษกรรมมาแล้วมากกว่า 22 ฉบับ และแน่นอนว่าส่วนใหญ่จะเป็นการยกเว้นโทษแก่คณะรัฐประหาร และมี 3 ฉบับที่บังคับใช้เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในปี 2516, 2519 และ 2535
“ท่านต้องชัดเจนว่าผู้ได้รับการยกโทษคือใคร เป็นประชาชนผู้ชุมนุมหรือเป็นการเรียกนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง คำตอบของท่านในเรื่องนี้ต่อสถานการณ์การเมืองในวันนี้ สำคัญต่อการกำหนดว่าเราจะอยู่ในความขัดแย้งต่อไป จะมีเงื่อนไขใหม่เพิ่มเติมหรือไม่ หรือเราจะสามารถแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งรอบนี้ได้อย่างยั่งยืนร่วมกัน” นายกัณวีร์ กล่าวทิ้งท้าย.-312.-สำนักข่าวไทย