หลวงพระบาง สปป.ลาว 29 ม.ค.-รมว.กต. เผยที่ประชุม รมต.ต่างประเทศอาเซียน ตอบรับข้อเสนอไทย ริเริ่มสร้างจุดมนุษยธรรมชายแดนไทย-เมียนมา ด้านเมียนมายอมเปิดให้ AHA เข้าสังเกตการณ์ พร้อมกำหนดขอปล่อยตัวประกันในฉนวนกาซ่าโดยไม่มีเงื่อนไข
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า ที่ประชุม เห็นพ้องและตอบรับข้อริเริ่มของไทยในการสร้างจุดมนุษยธรรมระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา โดยเห็นด้วยกับการที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขณะเดียวกันศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management: AHA Centre) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนจะเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ พร้อมทั้งจะมีสภากาชาดไทยและเมียนมาเข้ามาร่วมด้วย
“สำหรับท่าทีของเมียนมา มีตัวแทนระดับปลัดกระทรวงเข้าร่วมประชุมด้วยก็ยินดีกับเรื่องดังกล่าวและพร้อมสนับสนุน พร้อมให้ AHAซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนเข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย หากทุกอย่างเรียบร้อย สามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ และวันที่ 8 – 9 กุมภาพันธ์นี้ ผมจะเดินทางไปที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อดูพื้นที่ที่จะเป็นจุดทำเป็นพื้นที่มนุษยธรรม หากเหมาะสมจะเดินหน้าต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมยังยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อเรื่องฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งข้อริเริ่มของไทยในส่วนนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งใน 5 ข้อฉันทามติอาเซียน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
นายปรานปรีย์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังพูดคุยกันถึงความร่วมมือของอาเซียนอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ ด้านดิจิทัล สิ่งแวดล้อมและสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาค รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทั่ว โลก เพื่อให้ตัวแทนจากทุกประเทศแสดงความคิดเห็น รวมถึงปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเป็นปัญหาร่วมกันที่จะต้องเร่งแก้ไข
ด้านนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่ประชุมพูดถึงถ้อยแถลงสรุปการประชุมของประธานที่เสนอว่า อยากเห็นสถานการณ์ที่ฉนวนกาซาคลี่คลาย และต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ท้วงติงและเสนอให้เพิ่มประเด็นการปล่อยตัวประกัน บรรจุไว้ในถ้อยแถลงด้วย ซึ่งไทยสนับสนุนอย่างเต็มที่ จึงได้บรรจุถ้อยแถลงของประธานขอให้ปล่อยตัวประกันที่ถูกควบคุมตัวในฉนวนกาซ่าโดยไม่มีเงื่อนไข.-312.-สำนักข่าวไทย