รัฐสภา 25 ธ.ค.-กมธ.สิทธิฯ วุฒิสภาเรียกกสม. แจงคำแถลงการณ์กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบเอื้อ “ทักษิณ” หรือไม่ “วสันต์” ยันจุดประสงค์เดิมแก้คุกแน่น ต้องแยกนักโทษเด็ดขาดจากผู้ต้องขังรอคำพิพากษา ชี้ศาลเท่านั้นเป็นคนสั่งนอนนอกเรือนจำ
นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เชิญคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.) ชี้แจงความเห็นเรื่องการออกระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ที่ถูกสังคมตั้งคำถามว่า เอื้อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยน.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าชี้แจง ส่วนทางด้านกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไม่ได้มาชี้แจงด้วยตนเองแต่ส่งนายสมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ กองทัณฑวิทยามาชี้แจงแทน
น.ส.ปิติกาญจน์ ชี้แจงว่า ความเห็นที่กสม.เสนอไปคือให้กรมราชทัณฑ์ จำแนกผู้ต้องขังออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งตามหลักกฎหมายและหลักสากล จะต้องสันนิษฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณ 50,000 คนที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี และ 2.นักโทษเด็ดขาด ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้จะต้องมีแนวทางปฏิบัติแตกต่างกัน
ขณะที่นายวสันต์ กล่าวว่า คำแถลงการณ์กสม.เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ถูกพาดพิง และเกรงว่าสังคมจะเข้าใจผิด จึงขอชี้แจงว่า ข้อเสนอของกสม. เมื่อครั้งตรวจเยี่ยมเรือนจำ ปี 2562 คือเป็นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของเรือนจำ ซึ่งมีประเด็นเข้ามาคือผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสู้คดี เป็นแค่จำเลย และบางส่วนไม่ได้รับการประกันตัว จึงเสนอให้ควรปฏิบัติให้ต่างกับนักโทษเด็ดขาด ซึ่งขณะนั้นมีข้อเสนอร่วมกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น คือบุคคลเหล่านี้ควรสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
“หลังจากนั้น ได้พูดคุยกับพ.ต.อ.ทวีถึงหลักการเกี่ยวกับผู้ที่ถูกกล่าวหากับนักโทษเด็ดขาด ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ระเบียบโดยตรง โดยพูดถึงนักโทษที่ป่วยหนัก หรือป่วยจิตเวชที่ควรได้รับการพิจารณา แต่ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ ซึ่งเห็นว่ากรณีผู้ที่ถูกกล่าวหาจะป่วยหนักติดเตียงหรือจิตเวช คนที่จะสั่งได้ต้องเป็นศาล เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่ากรมราชทัณฑ์สั่งเองทั้งหมด” นายวสันต์ กล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย