สำนักงานป.ป.ช. 15 ธ.ค.-“สนธิญา” ร้องป.ป.ช.สอบจริยธรรม “รักชนก” หลังได้รับประกันตัวคดีม.112 แล้วยังโพสต์โซเชียลหมิ่นเหม่ แจงไม่ร้องสภาฯ เพราะทำงานช้า ไม่มีผลทางกม. เชื่อป.ป.ช.ใช้เวลาไม่นาน
นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือขอให้สำนักงานคณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบน.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคก้าวไกล จากกรณีศาลอาญา รัชดาพิพากษาให้จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ในความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และได้รับการประกันตัวไปแล้ว ว่า แม้จะเป็นศาลชั้นต้น แต่การกระทำเหล่านั้นสำเร็จสมบูรณ์ไปแล้ว ไม่เหมาะสมมาทำหน้าที่ในสถาบันนิติบัญญัติอีกต่อไป จึงขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบในประเด็นฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติมาตรฐานจริยธรรมและความผิดร้ายแรง ตามข้อบังคับประมวลจริยธรรม สส.- สว.ปี 2563 และมาตรฐานทางจริยธรรมที่ร้ายแรงตามรัฐธรรมนญพุทธศักราช 2560 ประกอบการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560
“เมื่อน.ส.รักชนกเข้ามาทำหน้าที่เป็น สส.ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และกรอบจริยธรรม 2 ฉบับ คือประมวลจริยธรรมว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมมาธิการ 2563 ซึ่งน.ส.รักชนกกระทำการขัดและฝ่าฝืนต่อจริยธรรมร้ายแรงในหมวด 1 อุดมการณ์ ในข้อที่ 4,6,7,18 และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานทางจริยธรรม ม.219 และรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับกับองค์กรอิสระ องค์ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งครอบคลุมถึงสส.และสว. ตามข้อที่3 (4) วรรค 2 ประกอบข้อที่ 5,6 และข้อที่ 19 ผมจึงมาใช้สิทธิที่ตามรัฐธรรมนูญ ยื่นต่อป.ป.ช. ให้ตรวจสอบพิจารณาและวินิจฉัยน.ส.รักชนกกระทำการฝ่าฝืน ไม่ทำตามจริยธรรมตามที่กล่าวหาหรือไม่ ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลอาญา ที่ระบุว่า “จำเลยกระทำการผิดวิสัยของบุคคลทั่วไปในฐานะ ปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องเคารพและไม่ละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญทุกฉบับ” นายสนธิญา กล่าว
นายสนธิญา กล่าวว่า บุคคลที่โพสต์ข้อความหรือรีทวีตที่มีลักษณะเป็นการอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบัน เข้าข่ายผิดตามม.112 และเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีกด้วยจะโดนความผิดสองเด้ง และจากคำวินิจฉัยจากศาลอาญา ศาลให้ความเมตตาโดยลงโทษต่ำสุดตามที่กฎหมายกำหนด ขอเรียกร้องไปยังน.ส.รักชนกให้ระมัดระวังเพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไขต่อศาล ในการใช้เป็นเงื่อนไขขอประกันตัวชั่วคราว และในช่วง1-2 วันที่ผ่านมา ตนได้ดูสื่อโซเชียลของน.ส.รักชนกพบว่าค่อนข้างหมิ่นเหม่ จึงขอให้ใช้ความระมัดระวัง
“เพราะหากกระทำการขัดต่อข้อตกลงกับศาล อาจจะมีคนไปร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยและยกเลิกการประกันตัว เช่นเดียวกันกับกรณีนายอานนท์ นำภา ที่ผิดเงื่อนไขต่อศาล ที่ผมได้ขอให้ยกเลิกการประกันตัวนายอานนท์ ที่ไปร่วมชุมนุมจนผิดเงื่อนไข ซึ่งจากกฎหมายทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าน.ส.รักชนกกำลังกระทำการที่ฝ่าฝืนและไม่ปฎิบัติตามประมวลจริยธรรมทั้ง 2 ฉบับ จึงขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบและวินิจฉัย ส่วนกรณีคดีความอาญาก็สู้กันไป 3-4 ปี แต่ในกรณีจริยธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่พิจารณาอย่างรวดเร็ว ไม่ซับซ้อน ป.ป.ช.สามารถพิจารณาได้ในเวลาอันรวดเร็ว เชื่อว่าไม่เกิน 6 เดือนป.ป.ช.จะสามารถชี้มูลได้” นายสนธิญา กล่าว
ส่วนกรณีที่มีแนวร่วมแสดงความคิด ว่าไม่ควรจะมีใครถูกดำเนินคดีตามม.112 นายสนธิญา กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับม.112 สามารถกระทำได้ในทางวิชาการการให้เหตุผล แต่ไม่ใช่การด่าหรือหมิ่นประมาทต่อสถาบัน หากจะแสดงความคิดเห็นวิเคราะห์วิจารณ์ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับม.112 มองว่าไม่มีใครเดือดร้อนจาก ม.112 แต่หากมีคนออกมาแสดงความเห็นมากขึ้นก็ขอให้พึงระวัง เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดี และกระบวนการที่จะนำไปสู่การแก้ไขม.112 ก็อยู่ในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว หากพรรคการเมืองใดต้องการแก้ไข ม.112 ขอให้ประกาศต่อประชาชนว่าจะแก้ไขอย่างไรบ้าง หากประชาชนเห็นด้วยทั้งประเทศ เชื่อว่าไม่มีใครค้าน ก็ขอให้สู้กันในสภาฯ
ส่วนเหตุผลเลือกใช้ช่องทางการยื่นสอบจริยธรรมต่อ .ป.ช. มากกว่ายื่นให้กับสภาผู้แทนราษฎร นายสนธิญา กล่าวว่า การดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎรค่อนข้างล่าช้า และการดำเนินการจะไม่มีผลกับทางกฎหมาย แต่กรณีของป.ป.ช.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ม.234 ที่กำหนดว่าผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามประมวลจริยธรรม ป.ป.ช.ส่งเรื่องต่อไปยังศาลฏีกา หากป.ป.ช.รับเรื่องของตนภายใน 3 เดือน แล้วส่งเรื่องไปให้ศาลฏีกา เมื่อถึงศาลแล้ว น.ส.รักชนกหรือคนที่ถูกร้อง จะถูกคำสั่งให้ยุติการปฎิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีความวินิจฉัย
“จนถึงวันนี้ผมยืนยันชัดเจนว่าคุณรักชนกไม่สมควรเข้าไปนั่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่นิติบัญญัติแล้ว ผมจึงมาร้อง ให้ป.ป.ช.โปรดวินิจฉัยและจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ขณะนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาขิกวุฒิสภาหรือใครก็ตาม กลัวมาที่สุด กลัวเรื่องจริยธรรม ซึ่งมีความแรงและเร็ว มีสส.หลายคนที่โดนจริยธรรม บางคนถึงขนาดถูกห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิตก็มี นี่คือตัวที่คอยกำกับการทำงานของสส. เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าคุณจะทุจริตหรือทำอะไรก็ตาม กว่าจะจบคดีก็ปาเข้าไป 9-10 ปี และคดีนี้ผมเชื่อว่า ป.ป.ช.จะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 4-5 เดือน เพราะไม่มีอะไรทับซ้อน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็น ศาลได้ตัดสินมาแล้ว หากเป็นคนทั่วไปก็ไม่มีปัญหา แต่นี่เขาเป็นสส.” นายสนธิญา กล่าว.-314.-สำนักข่าวไทย