ทำเนียบ 12 ธ.ค. – โฆษกรัฐบาล แจง รมว.แรงงาน ขอถอนวาระ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ออกจาก ครม. เหตุตั้งข้อสังเกตใช้ตัวเลขปี 63-64 ช่วงโควิดระบาด มาคำนวณ ย้ำ ครม.ไม่มีอำนาจสั่งทบทวน
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ว่า จากกรณีคณะกรรมการไตรภาคี มีมติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 66 ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ อัตราวันละ 2-16 บาท เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ซึ่งนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ แต่เนื่องจากในที่ประชุม รัฐมนตรีการกระทรวงแรงงาน ได้ตั้งข้อสังเกต โดยมองว่าหากการใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 67 เป็นการใช้หลักเกณฑ์โดยนำตัวเลขย้อนหลัง 5 ปีมาคำนวณเฉลี่ย และมีการนำเอาตัวเลขปี 2563 และ 2564 มาร่วมพิจารณา ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาคำนวณ ทำให้ได้ตัวเลขต่ำ ซึ่งน่าจะมีวิธีคำนวณที่ดีกว่า ซึ่งครม. ก็รับทราบและแสดงความเห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว ในเมื่อครม. รับทราบและเห็นด้วย จึงมอบสิทธิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่าจะยังคงยืนยันเสนอให้กับครม. หรือ ขอถอนไปก่อน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอถอนออกไปด้วยข้อสังเกตดังกล่าว
นายชัย ยืนยันว่า ครม. ไม่มีอำนาจในการสั่งทบทวนอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นข้อสรุปของคณะกรรมการฯ จะนำมาเสนอครม.อีกครั้งเมื่อใด และจะมีการทบทวนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของครม. แต่เป็นบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว.-313.-สำนักข่าวไทย