รัฐสภา 6 ธ.ค.- กมธ.ศึกษาสร้างสันติภาพใต้ฯ รับฟังความเห็นทุกฝ่าย เตรียมสรุปรอบแรกกลางม.ค.ปีหน้า เล็งเสนอสภาฯ ตั้งกมธ.ติดตามงานคณะเจรจาคุยสันติสุข -ปรับแก้กม.เอื้อสร้างสันติภาพ
นายจาตุรงค์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ประธานคณะกมธ.วิสามัญศึกษาการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้ แถลงผลการประชุมการสร้างความเข้าใจรากเหง้าความขัดแย้ง และกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ว่า หลังจากที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ทำมาระยะหนึ่งมีประเด็นสำคัญที่กำลังพิจารณาศึกษาและศึกษาต่อไป ถึงบทบาทของรัฐสภาต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่มองว่าควรจะมีคณะกรรมการของสภาและควรจะมีกฎหมายอะไรที่เอื้อต่อการพูดคุยสันติภาพและทำให้การพูดคุยสันติภาพสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ โดยปรับการทำงานของฝ่ายบริหาร เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นเอกภาพและมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ทำงานเต็มเวลา
“คณะกรรมาธิการฯ เห็นปัญหาที่ยังไม่เป็นเอกภาพ ยังไม่มีความชัดเจน ในการจัดระบบการทำงาน และคงต้องศึกษาต่อไปว่าระบบการทำงานที่จะเป็นประโยชน์ควรจะเป็นอย่างไร รวมทั้งขจัดอุปสรรคต่อการเดินหน้าคุยสันติภาพที่ปราศจากความหวาดกลัว และนำขึ้นสู่ความเป็นสากล เพราะเห็นว่า ยังมีอุปสรรคในเรื่องนี้และมีความเห็นที่แตกต่างกัน เช่นควรจะมีการลงนามหรือไม่ ควรจะทำให้การพูดคุยเป็นทางการหรือไม่ เป็นเรื่องน่ายินดี ที่รัฐบาลตั้งคณะทำงานพูดคุยสันติสุขขึ้นมาแล้ว แต่เป็นข้าราชการทั้งหมดและหัวหน้าคณะเป็นพลเรือน ซึ่งเราคงแลกเปลี่ยนกับคณะนี้ และเห็นว่าควรจะมีองค์กรหรือคณะกรรมาธิการเฉพาะ ที่จะช่วยส่งเสริมผลักดัน ติดตามการทำงานการพูดคุยสันติภาพเป็นการเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติจะจำกัด แม้แต่การรับรู้ความคืบหน้าต่าง ๆ ก็มีน้อย” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการชุดนี้จะร่างเป็นข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป คาดว่ากลางเดือนมกราคมปีหน้าน่าจะมีข้อสรุปบางส่วนออกมารวมถึงข้อสรุปในข้อบัญญัติและการแก้ไขกฎหมายที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพโดยรวม ซึ่งมีข้อเสนอเรื่องการออกกฎหมายใหม่ก ารแก้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ. ความมั่นคง โดยจะมีการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสันติภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการทำให้เกิดความสงบ การอยู่ร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ อย่างมีสันติสุข
“ต้องศึกษาการปรับงบประมาณ ให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีและสอดคล้องกับแนวทางทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาจะได้ยินตัวเลขการใช้งบประมาณไปในหลายปีเป็นจำนวนสูงถึง 5 แสนล้านบาท รวมทั้งการจัดงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาความมั่นคง ในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องการความมีส่วนร่วมของประชาชนและที่สำคัญ งบประมาณที่เกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรจะสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ เพื่อเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคณะกรรมาธิการคาดหวังการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและคาดหวังว่าเราจะสามารถทำข้อเสนอ ที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้” นายจาตุรนต์ กล่าว
สำหรับกรอบการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ นายจาตุรนต์ กล่าวว่ าสภาฯมอบหมายให้ทำงาน 90 วันแต่จากที่ฟังผู้เชี่ยวชาญ มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องขยายเวลาและจากนี้ จะทำ 2 ส่วนคือตั้งหัวข้อในการศึกษาพิจารณาที่ชัดเจน และจะมีการ รับฟังลงพื้นที่ โดยต้นเดือนหน้าจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2-3 ครั้ง และให้อนุกรรมาธิการไปรับฟัง และคาดว่าจะทยอยมีข้อสรุป ที่เป็นข้อเสนอในประเด็นใหญ่ ๆ ได้ ซึ่งระหว่างนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทีมงานร่างข้อเสนอ
“การตั้งคณะพูดคุยขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่คงจะศึกษา ดูว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร โดยจะเชิญผู้มีประสบการณ์จากการพูดคุยทุกชุดมา ให้ความเห็นในสัปดาห์หน้า และอีกส่วนคือการจัดการบริหารความรับผิดชอบการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากคำสั่งคสช.ส่วนหนึ่ง และหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบบัญชาการโดยนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มี ระบบในการประสานเชื่อมโยงองค์กรเหล่านี้เข้าด้วยกัน ทำให้แต่ละหน่วยงานหรือกฎหมายคนละฉบับ ศอบต.ฉบับหนึ่ง กอ.รมน.ก็ฉบับหนึ่ง สภาความมั่นคงฯ ก็อีกฉบับหนึ่ง ขณะที่กองทัพก็มีกฎอัยการศึก และยังเป็นหัวหน้ากอ.รมนในภาคใต้ด้วย จึงเห็นปัญหาการลักลั่นไม่มีการประสานงาน” นายจาตุรนต์ กล่าว
ส่วนที่พรรคก้าวไกลเสนอยุบกอ.รมน. นายจาตุรนต์ กล่าวว่าคณะกรรมาธิการได้ยินเรื่องนี้มาแล้ว และเห็นปัญหาความลักลั่น ความไม่เป็นเอกภาพหรือไม่มีระบบประสานงานก็จะเป็นประเด็นหนึ่งที่จะศึกษาถึงระบบประสานงานที่ดีองค์กรเหมาะสมที่จะรับผิดชอบ กฎหมายที่จะใช้ควรจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าข้อเสนอเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจและใช้นโยบายในการแก้ไขปัญหา
สำหรับข้อเสนอพื้นที่ปกครองพิเศษ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ประเด็นเหล่านี้ การกระจายอำนาจรูปแบบการบริหารการปกครองพื้นที่ที่เหมาะสม กฎหมายที่เอื้อ ต่อกระบวนการสร้างสันติภาพและการพูดคุย จะต้องมีการศึกษาหาข้อมูลแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาข้อสรุปของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งแล้วเรื่องเป็นเรื่องของทั้งประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะถอยหลัง ซึ่งรูปแบบการปกครองพิเศษของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไร
“แต่ต้องแตกต่างจากกรุงเทพฯหรือพัทยา ที่จะต้องหาสมดุลที่เกิดการกระจายอำนาจที่ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ควรจะได้รับเช่นเดียวกับหลายจังหวัดที่ควรจะกระจายอำนาจมากขึ้น ซึ่งการกระจายอำนาจพิเศษเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา สังคมควรต้องรับรู้ปัญหาความขัดแย้งกระบวนการสร้างสันติภาพจึงต้องมีการดำเนินการในหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องของ การมีกฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เรื่องกระบวนการยุติธรรมในระยะประเด็นทางที่เหมาะสมกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” นายจาตุรนต์ กล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย