กกต. 13 พ.ย.- “สนธิญา” ยื่น กกต. นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ตรงปกกับที่แจ้ง ขัดกฎหมายพรรคการเมือง เตรียมยื่น ป.ป.ช.เอาผิดจริยธรรม
นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เพื่อขอให้พิจารณากรณีที่ กกต.อนุมัตินโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยขอให้ กกต.พิจารณาวินิจฉัยและตอบคำถามที่ผ่านนโยบายดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้เงื่อนไขเปลี่ยนไปหมดแล้ว ไม่เหมือนกับตอนที่ยื่นนโยบายต่อ กกต. ไม่ว่าจะเป็นที่มาของเงิน และจำนวนคนที่จะได้รับแจก โดยประเด็นที่ตนร้องให้ กกต.พิจารณา 3 กรณีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 หรือไม่ เพราะเข้าข่ายยื่นเอกสารอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย เดือดร้อน ซึ่งมีโทษจำคุกและปรับ
“การที่พรรคการเมืองต้องส่งนโยบายต่างๆ มาให้ กกต.ตรวจสอบ กกต.จะต้องตรวจสอบพิจารณาอย่างชัดเจน ว่านโยบายของพรรคนั้นทำได้หรือไม่ได้ และเมื่อยื่นไปแล้วไม่เป็นไปตามกระบวนการที่พรรคการเมืองนั้นอธิบาย เท่ากับว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่แจ้งต่อ กกต. ตนจึงมาถามว่าการกระทำดังกล่าวของพรรคการเมืองที่มีการเสนอนโยบายไปแล้วทำไม่ได้ เป็นการแจ้งเอกสารอันเป็นเท็จให้กับเจ้าพนักงานหรือไม่ อีกทั้งการแจ้งนโยบายแล้วไม่ตรงตามปก มีการสับเปลี่ยน ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 57 (1) (2) มาตรา 72 ที่ระบุเรื่องแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมาตรา 92 ที่ระบุเรื่องการยุบพรรคการเมือง และนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ตรงกับที่นำเสนอต่อ กกต.เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 (2) (3) ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ”นายสนธิญา กล่าว
ส่วนกำหนดระยะเวลาให้ กกต. ตอบคำร้องนั้น นายสนธิญา กล่าวว่า ต้นเดือน ธ.ค.น่าจะเรียบร้อย แต่หากตอบแล้วไม่ตรงกับข้อมูลความเป็นจริง เรื่องนี้ก็จะถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.อยู่ดี เพราะไม่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งหน้า มีพรรคการเมืองแล้วมาประกาศนโยบายแบบนี้ จนทำให้เกิดความเสียหาย และประชาชนเบื่อหน่ายการเมือง
เมื่อถามว่าตั้งแต่แถลงนโยบายจนมาถึงวันนี้ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมีการเปลี่ยนเนื้อหาไปมากใช่หรือไม่ นายสนธิญา กล่าวว่า ตนไม่เชื่อมั่นว่า นโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดที่ใช้เงินจำนวนมาก จะสามารถทำได้ ส่วนการเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือ การผิดสัญญาต่อประชาชน เพราะเมื่อประกาศตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่า พ.ร.ป.พรรคการเมือง บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการที่พรรคการเมืองจะประกาศนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งต้องผ่านการศึกษา ดูงบประมาณ ดูผลกระทบ ดูทุกอย่าง และคนที่จะพิจารณาตรวจสอบก็คือ กกต.ต้องพิจารณาให้ได้ว่าสิ่งที่พรรคการเมืองนำเสนอมานั้นทำได้หรือไม่
“วันนี้ตนไม่มั่นว่าสามารถทำได้หรือไม่ แต่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเดิมแล้ว กกต.ต้องรับผิดชอบและวินิจฉัย ทั้งนี้ ไม่กำหนดระยะเวลาเพราะมีเวลาพอสมควร แต่ถ้าได้รับเหตุผลจาก กกต.เป็นไปตามกฎหมาย กระบวนการเป็นที่พอใจ ก็จะไม่ยื่น ป.ป.ช. แต่เชื่อว่า กกต.คงไม่สามารถตอบตนได้ และเรื่องนี้จะต้องถึง ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ”นายสนธิญา กล่าว.-สำนักข่าวไทย