ทำเนียบ 2 พ.ย.-“รัดเกล้า” เผย รัฐบาลเอาจริง “ชัยนาทโมเดล” ติดตามทำธนาคารน้ำใต้ดิน กว่า 800 แห่ง ศึกษาเทคโนโลยีเพื่อช่วยหนุนเกษตรกรทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาล โดยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน และดูการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสำหรับการทำหญ้าเลี้ยงสัตว์ และโครงการธนาคารน้ำใต้ดินที่ จ.ชัยนาท เพื่อสนองเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งมั่นที่จะสร้างรายได้ให้เกษตรกร ผ่านหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งรวมถึงการทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำตามความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ และการส่งเสริมการทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เช่น การปลูกหญ้าอาหารสัตว์
โดยจังหวัดชัยนาท ได้รับเลือกเป็นจังหวัดนำร่องที่ดำเนินการใน 6 ด้าน ดังนี้ 1. นวัตกรรมข้าวพันธุ์ดี เมล็ดข้าวพันธุ์ดี 2. ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการผลิต ส่งเสริมการปลูกพืชแห่งโอกาส 3. บริหารจัดการทรัพยากรดินให้เหมาะสมกับพืช 4. ระบบตลาดนำการผลิต 5. ขยายสาขาและเพิ่มศักยภาพวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และ 6. การบริหารจัดการน้ำด้วยธนาคารน้ำ
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ย้ำถึงความเร่งด่วนและความสำคัญของการผลักดันโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นกรณีศึกษาถึงความเป็นไปได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ องค์ความรู้ที่จะได้จาก “ชัยนาทโมเดล” นี้ จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในการนำร่องไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลแท้จริงในจังหวัดอื่นๆ อีกทั้งจะยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล “ไม่ท่วมไม่แล้ง” อีกด้วย
สำหรับธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ออกแบบมาช่วยรับมือกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซากให้หลายประเทศทั่วโลก สำหรับจังหวัดชัยนาทนั้น จะมีการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินรวมทั้งสิ้น 834 แห่ง การทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อที่จะนำน้ำใต้ดินมาใช้ในฤดูแล้ง ให้มีการกักเก็บน้ำใต้ดินให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน การทำธนาคารน้ำใต้ดินมีข้อดี คือ แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง แก้ปัญหาพื้นที่ประสบภัยแล้ง การเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน การเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดิน ทำให้ต้นไม้โดยรอบเติบโตงอกงาม ลดปริมาณน้ำเสีย ทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ธนาคารน้ำใต้ดินจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยให้ประชากรในสังคมปรับตัวให้อยู่รอดจากภัยแล้ง.-สำนักข่าวไทย