ทำเนียบฯ 30 ก.ค. – ครม.อนุมัติเพิ่มค่าลดหย่อนภาษี 3 แสนบาท/ราย ถือครอง 5 ปี หนุนซื้อหน่วยลงทุน Thailand ESG Fund ออมเงินระยะยาว ผ่านตลาดทุน
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง การให้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund หรือ TESG) ด้วยการขยายวงเงินการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน Thailand ESG Fund จาก 100,000 บาทต่อปีภาษี เป็น 300,000 บาทต่อปีภาษี โดยไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน ให้ลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือไม่น้อยกว่า 5 ปี (จากเดิม 8 ปี) สำหรับหน่วยลงทุนซื้อตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2569 และกำหนดให้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใด ที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน) โดยวงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ได้แก่ กองทุน LTF, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ, และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกัน ไม่เกิน 500,000 บาท
กรณีซื้อกองทุน TESG ระหว่าง 1 มกราคม 2567 ถึงวันก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ ให้นักลงทุนได้รับสิทธิ์หักค่าลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท และได้รับลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนด้วย (ส่วนกรณีที่ซื้อกองทุน TESG ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 และกรณีซื้อกองทุน TESG ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 เป็นต้นไป ผู้ซื้อกองทุนจะได้รับสิทธิ หักค่ารถหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน)
กระทรวงการคลัง ยอมรับว่าสูญเสียรายได้ภาษี 13,000-14,000 ล้านบาท/ปี คาดว่าสูญเสียรายได้ในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท และในปีถัดไปปีละ 10,000 ล้านบาท หวังเพิ่มการลงทุนในกองทุนรวม TESG การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น ทำให้เพิ่มเงินออมและการลงทุนระยะยาว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแนะ ให้กระทรวงการคลัง ติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้ ป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังในอนาคต.-515 -สำนักข่าวไทย