รัฐสภา 19 ต.ค.-กมธ.ที่ดินฯ แจงหลักการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แจกในจังหวัดต้นแบบได้ 15 ม.ค.ปีหน้า กังวลแนวเขตปฏิรูปที่ดินทับซ้อนที่ดินประเภทอื่น
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล โฆษกคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงผลการประชุมกมธ.ที่ดินฯ วานนี้ (18 ต.ค.) ว่า ที่ประชุมมีวาระการพิจารณาเรื่อง “นโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ติดตามการผลักดันนโยบายของรัฐบาล โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูลได้แก่ ตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และตัวแทนจากกรมที่ดิน ร่วมให้ข้อมูล
ประเด็นสำคัญในหลักการการดำเนินนโยบาย อาทิ เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ คปก. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธ.ค. 66 , การจัดทำร่างระเบียบเพื่อกำหนดรูปแบบและนิยามโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม , กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับการจัดที่ดินซึ่งเป็นเกษตรกรที่ถือครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี , กำหนดวิธีการจัดที่ดินโดยจะเป็นการจัดที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมตามการจำแนกพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดิน , กำหนดหลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงผู้ทำประโยชน์ โดยให้สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด และจำนวนเนื้อที่การถือครองยังคงเป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด คือ เกษตรกรรมไม่เกิน 50 ไร่ และการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ไม่เกิน 100 ไร่
รวมถึง การดำเนินการออกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรก จะสามารถแจกให้เป็นจังหวัดต้นแบบได้ภายในวันที่ 15 ม.ค. 67 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องเกษตรกร และ ส.ป.ก. จะดำเนินการในการออกเอกสารสิทธิในรูปแบบโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในทุกจังหวัดภายใน 1 ปี และจะดำเนินการปรับปรุงเอกสารสิทธิให้กับเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบภายใน 5 ปี
นายฐิติกันต์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการ มีข้อสังเกตว่า โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คือ ที่ดินที่ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ มีความต่างกับโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน เรื่องหลักกรรมสิทธิ์ ส่วนโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เป็นนโยบายรัฐบาลนั้น เป็นเพียงแค่สิทธิ์ แต่พยายามทำให้มีการเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ์เหมือนกันกับโฉนดที่ดิน และมีการจํากัดว่าคนที่จะมาถือสิทธิ์ต้องครอบครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี การยกระดับสิทธิ์และพัฒนาสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. เพิ่มจากเดิมที่ให้เพียงสิทธิการเข้าทำประโยชน์ ไม่สามารถซื้อ ขาย เปลี่ยนมือ โอนไปยังบุคคลอื่นได้
กรรมาธิการยังกังวลถึงเรื่องข้อพิพาทจากการประกาศแนวเขตปฏิรูปที่ดินที่ไม่ชัดเจนและทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินประเภทอื่น อาทิ แนวเขตป่าไม้ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินราชพัสดุ เพราะฉะนั้นก่อนจะมีนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากหากดำเนินการไปแล้วอาจทำให้ปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่ซับซ้อนขึ้นไปอีก ซึ่งทางกรรมาธิการยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน
อีกทั้งกังวลเรื่อง วิธีการตรวจสอบคุณสมบัติและวิธีการดำเนินการกับนายทุนผู้ที่ครอบครองพื้นที่เกินกว่านโยบายและ จะทวงคืนอย่างไร รวมถึงมีแนวทางติดตามและตรวจสอบการเปลี่ยนมือที่ดินหลังจากการดำเนินนโยบายอย่างไร ซึ่งทางคณะกรรมาธิการจะติดตามข้อมูลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย