รัฐสภา 5 ต.ค.-“ภูมิธรรม” แจงสภาฯ ปัดยื้อยกร่าง รธน.ใหม่ เล็งหาแนวทางจัดประชามติ 2 ครั้ง รื้อ รธน. รอฟังความเห็นเลือกตั้ง ส.ส.ร.
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณากระทู้ถามที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สอบถามถึงความชัดเจนในการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ และแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างฉบับใหม่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการดึงเวลาให้ล่าช้า และต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ แต่รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับคนทุกภาคส่วนในสังคม จึงต้องหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งใหม่ และต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
“ยืนยันว่าจะจัดให้ออกเสียงประชามติ และจัดทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าภายใน 3 ปีกว่าถึง 4 ปี จะสามารถทำรัฐธรรมนูญให้เกิดความเห็นชอบจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายในสังคมได้ แต่ละขั้นตอนของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถลดระยะเวลาได้ ซึ่งคณะกรรมการศึกษาฯ ดังกล่าว จะไปหาแนวทางที่จะทำอย่างไรให้การจัดการออกเสียงประชามติเหลือน้อยที่สุด เพราะการจัดการออกเสียงประชามติแต่ละครั้ง ต้องใช้งบประมาณกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท จึงจะหาวิธีการให้สามารถจัดการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง เพราะตามกฎกติกาที่กำหนดไว้ อาจจะต้องจัดการประชามติ 3-4 ครั้ง รัฐบาลจึงต้องการให้เสียค่าใช้จ่ายน้อย และทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1-2 ประสบความสำเร็จพร้อมกฎหมายประกอบทุกฉบับให้ทันต่อการเลือกตั้งทั่วไป” นายภูมิธรรม กล่าว
นายภูมิธรรม กล่าวว่า คณะกรรมการฯ จะเชิญพรรคการเมืองต่าง ๆ ทุกพรรค ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้าน มาให้ความเห็นต่อคณะกรรมการด้วย และแม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้ตอบรับเข้าร่วมเป็นกรรมการ ก็ไม่ได้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุด เพราะยังสามารถพูดคุยกันได้ในอนาคต เพื่อแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย
ส่วนความกังวลของพรรคก้าวไกลที่ไม่ต้องการเป็นตรายางให้กับรัฐบาลในการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว จะยืนยันถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับได้หรือไม่นั้น นายภูมิธรรม ยืนยันว่า ขอรับรองด้วยเกียรติ และขอให้พรรคก้าวไกลให้เกียรติคณะกรรมการที่มีบุคคลที่ทรงคุณวุฒิเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมองภาพให้กว้างขึ้น ยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน การบังคับให้รับรองสิ่งที่พรรคก้าวไกลคิดเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการนั้น ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่สิ่งที่ควรจะรับหลักการร่วมกัน คือ การทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะ 2 ข้อที่พรรคก้าวไกลเสนอ แต่รัฐบาลต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยจะต้องพิจารณาจากความเป็นจริง และทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพื่อลดอุปสรรค โดยไม่สร้างความขัดแย้งใหม่
“รู้สึกเสียใจที่พรรคก้าวไกลถอนตัวจากคณะกรรมการดังกล่าว แต่ไม่ควรมองในแง่ร้ายเกินไป และเปิดใจกว้างให้มากขึ้น แต่รัฐบาลก็ไม่ขัดข้อง และพร้อมเชิญพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคการเมืองอื่น ๆ มาหารือ และจะเปิดเวทีให้ประชาชนแสดงความเห็นได้ โดยยืนยันว่า แม้กระบวนการจะล่าช้าไป 3 เดือน แต่ได้ความเห็นประชาชนที่กว้างขวางขึ้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์” นายภูมิธรรม กล่าว
นายภูมิธรรม ปฏิเสธชี้แจงความชัดเจนการจัดการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ระบุว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต้องรอฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่คณะกรรมการฯ จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นก่อน ซึ่งหากยืนยันหนักแน่น รัฐบาลก็พร้อมเดินหน้า ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีส่วนร่วมจากประชาชนมากที่สุด มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และจะทำให้ดีที่สุด.-สำนักข่าวไทย