ทำเนียบรัฐบาล 18 ก.ย. -“สมศักดิ์” ชี้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ยกเลิกหมดคราเดียวไม่ได้ ปัด ไม่รู้เรื่องอภัยโทษ “ทักษิณ”
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ดูแลสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) กล่าวถึงกรณีการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชายแดนใต้ ว่า ในส่วนของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชายแดนใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ไม่ได้รับผิดชอบในเรื่องนี้ หน้าที่ในส่วนนี้ เป็นของสภาความมั่นคง ทราบมาว่า เดิมทีการต่ออายุเริ่มจาก 33 อำเภอ ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว 11 อำเภอเหลือ 22 อำเภอ การประชุมสภาความมั่นคงในรัฐบาลที่แล้วได้ยกเลิกไปอีก 1 อำเภอ คงเหลือ 21 อำเภอ ตอนนี้ได้ติดตามดูว่า จะเป็นอย่างไรในโอกาสข้างหน้า เดินไปตามปกติ ค่อยๆเลิกไปในแต่ล่ะสถานการณ์ทุก 3 เดือน
เมื่อถามว่าหมายความว่าจะต่อพ.ร.ก.ใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ลดทั้งหมดคงไม่ได้ พ.ร.ก.นี้มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายกฯ ทักษิณ ถ้ายกเลิกก็จะใช้ พ.ร.บ. ปกติธรรมดา
เมื่อถามว่าในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม ได้ยินหรือดูข้อมูลเกี่ยวกับการพักโทษของอดีตนายกฯทักษิณหรือไม่ นายสมศักดิ์ตอบว่า ไม่ได้ยิน
ส่วนจะเสนอเรื่องขออภัยโทษเพิ่มเติมอะไรอีกหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนกำกับดูแลแต่ไม่ใช่คนสั่งการ เรื่องที่กระทรวงแต่ละกระทรวงจะเสนอหนังสือเข้า ครม. ก็เธอทำเนินการหารือต่อไปแต่ขณะนี้ ยังไม่มีอะไร
เมื่อถามว่าหากแก้แล้วรัฐธรรมนูญสำเร็จ จะยุบสภาหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน หลายคนอาจเอาเวลาในการบริหารงานของรัฐบาลมาเทียบกับการแก้ไขและคำนวณซึ่งอาจใช้เวลานานพอ ๆ กัน แต่คนละเรื่องกัน ประชาชนจะสับสน
ส่วนที่พรรคฝ่ายค้านพยามเร่งเร้าทวงถามเรื่องรัฐธรรมนูญตลอด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ให้ผู้ที่มีหน้าที่เรื่องนี้โดยตรง เป็นฝ่ายพูดคุยชี้แจงจะดีกว่า เราเป็นฝ่ายบริหาร ขอทำหน้าที่ตรงนี้ดีกว่า
เมื่อถามในฐานะที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มาก่อน เห็นการแบ่งงานกันไม่ลงตัว จะทำให้รัฐบาลเกิดรอยร้าวหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การแบ่งงานในกระทรวงที่มีรัฐมนตรีช่วย มักจะมีข่าวทำนองนี้ออกมาเสมอ แต่สุดท้ายก็คงตกลงกันได้ด้วยดี เพราะว่าเป็นการเริ่มต้นของการทำงาน ค่อยพูดค่อยคุยกันก็คงตกลงกันได้
ส่วนที่เคยดูแลเรื่องยาเสพติด ได้มีโอกาสไปช่วยนายกฯ บ้างหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ผมดีใจมากที่นายกรัฐมนตรีเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ คิดมาเสมอว่าในฐานะรัฐมนตรีทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จ เพราะไม่ใช่ใครที่จะทำให้สำเร็จก็ได้ เพราะการปราบยาเสพติดต้องใช้ทั้งสี่ขาคือ ป.ป.ส., ปปง. ที่เข้ามาจัดการเรื่องการยึดทรัพย์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญหลัก รวมถึงตำรวจที่จะเป็นฝ่ายจับกุม สืบสวนสอบสวนขยายผล และกรมสรรพากรที่เข้ามาดำเนินการภายหลังการตรวจสอบทรัพย์สิน.-สำนักข่าวไทย