สนามบินสุวรรณภูมิ 7 ส.ค. – นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมการเปิดใช้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ในรูปแบบ Soft opening ปลายเดือน ก.ย.นี้ และเปิดใช้แบบเต็มรูปแบบในปี 2567 รองรับนักท่องเที่ยว 60 ล้านคนต่อปี ขอทุกคนอย่าติติง ลดความขัดแย้ง เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้า
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และรักษาการราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจความพร้อมการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงเส้นทางผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ เพื่อเดินทางไปยังอาคาร SAT-1 ด้วยบริการระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ สิ่งอํานวยความสะดวก ตลอดจนระบบต่างๆ ภายในอาคาร
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อาคาร (SAT-1) เป็นไปตามแผนระยะที่สองในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะเปิดแบบ Soft opening ในปลายเดือนกันยายนนี้ และเปิดใช้แบบเต็มรูปแบบในปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งถือว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือของทุกคน แม้เริ่มต้นจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถือว่าทุกคนได้ร่วมมือ การทำเพื่ออนาคตของประเทศฝากไว้ให้ลูกหลาน ในขณะเดียวกันเตรียมลงพื้นที่ติดตามงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซี ซึ่งมีการพัฒนาท่าเรือ รองรับด้านการขนส่งด้วย จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลนี้ได้ริเริ่มโครงการไว้ และทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น ส่วนการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ขณะนี้มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปแล้วกว่าร้อยละ 73 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566 และมีแผนจะเปิดใช้งานในเดือนกรกฎาคม 2567 จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีประสิทธิภาพรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า การเปิดใช้อาคาร SAT-1 และการก่อสร้างรันเวย์เส้นที่ 3 รวมถึงโครงการอื่นๆ ให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประเทศ ถือเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว การคมนาคมในประเทศ รองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมการบินของประเทศในอนาคต ซึ่งมีแผนที่วางไว้คือ การเชื่อมโยง 3 สนามบิน ซึ่งอยู่ในแผนงานที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยใช้เวลาระยะหนึ่ง กว่าจะสำเร็จได้จนถึงวันนี้ เป็นความพยายามริเริ่มทุกอย่างที่เกิดจากความร่วมมือของทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ คณะรัฐมนตรีที่ช่วยกัน แม้บางอย่างเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าร่วมมือกันก็ทำได้ทุกเรื่อง และทำทุกอย่างอย่างถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และสิ่งที่ทำวันนี้ทำเพื่ออนาคต ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สร้างความประทับใจกับทุกคนที่เดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นอนาคตที่ฝากไว้ให้กับลูกหลาน
นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกหน่วยงาน ภาคเอกชน ประชาชน ที่ได้ช่วยให้การทำงานของรัฐบาล สำเร็จได้จนถึงขนาดนี้และมีหลายอย่างที่รัฐบาลได้ทำไว้แล้ว ซึ่งตนเองเตรียมเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่อีอีซี สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือ เพราะเป็นผลงานที่รัฐบาลได้เริ่มไว้แล้ว ซึ่งถ้าทุกคนมองอย่างเป็นธรรมและเห็นด้วยตาก็ขอให้ดูสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือกันก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด โครงการดังกล่าวจึงเป็นตัวอย่างให้เห็นได้ว่าจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้นในหลายมิติ
ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียังยินดีสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศดีขึ้น กลับไปเหมือนช่วงก่อนโควิด เพราะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิวันละ 150,000 คน และนี่คือสิ่งที่ทุกคนทำขณะที่ ขณะที่บริษัทการบินไทยก็กลับมาดึขึ้น อยู่ในอันดับที่น่าพอใจ และเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้เร็วกว่าเดิม 1 ปี ในการเป็นสายการบินแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของทุกคน ดังนั้น ไม่ว่าจะติติงสิ่งไหนก็ตาม แต่อย่าลืมว่าการทำอะไรลงไป จะได้อะไรกลับมา สิ่งไหนที่ยังไม่เคยทำแล้วได้ทำหรือไม่ สิ่งนี้ต้องคิดและต้องช่วยกันทำความเข้าใจด้วย อย่าให้มีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกเรื่อง จนกระทั่งประเทศชาติเดินหน้าไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สําหรับอาคาร SAT-1 เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 สถาปัตยกรรมของตัวอาคารได้ออกแบบให้เข้ากับอาคารผู้โดยสารหลัก ใช้เป็นระบบ Modular ที่ก่อสร้างได้รวดเร็วและใช้วัสดุที่ดูแลรักษาได้ง่าย อีกทั้งยังคํานึงถึงการออกแบบอาคารที่ยั่งยืน เพื่อช่วยให้ประหยัดพลังงาน โดยอาคาร SAT-1 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 216,000 ตารางเมตร ตัวอาคารมีความสูง 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น นอกจากนี้อาคาร SAT-1 ยังเชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารหลัก โดยให้บริการรถไฟฟ้า APM ซึ่งเป็นรถไฟฟ้า ระบบล้อยางแบบไร้คนขับในการรับ-ส่งผู้โดยสาร ใช้ระยะเวลาในการโดยสารรวมถึงระยะเวลาที่ผู้โดยสารรอบริการที่สถานีประมาณ 3 นาที และสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 210 คนต่อขบวน สําหรับการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งเป็นทางวิ่งที่มีความยาว 4,000 เมตร.- สำนักข่าวไทย